"ปทีป"แฉทิ้งทวน! ชี้ปัญหาเด็กฝากทำองค์กร ตร.ป่วน "เด็กเส้น"ฤทธิเยอะ แต่"อาวุโส"ก็อาจได้"นายเฮงซวย"

26/8/53
โดยมติชน เมื่อ 23 ส.ค.2553

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 สิงหาคม ที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) 

ไปตรวจเยี่ยมนายตำรวจระดับหัวหน้าปฏิบัติการของตำรวจภูธรภาค 9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 300 นาย ก่อนที่จะเกษียณราชการ เพื่อให้กำลังใจมอบนโยบายแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาขององค์กรตำรวจ และการเตรียมการของการเป็นตำรวจในอนาคต

พล.ต.อ.ปทีปกล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาขององค์กรตำรวจที่สำคัญคือ ปัญหาการแต่งตั้งจะถูกแทรกแซงจากบุคคลภายนอกมากมาย การแต่งตั้งคราวที่แล้ว ระดับรอง ผบก.-สว.มีถึง 2,000 ราย ที่มีคนมาฝาก ถือว่าเยอะมาก จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ "คนทำงานไม่ได้โต คนโตไม่ได้ทำงาน" การแก้ปัญหาก็คือตนไม่ยอม ผู้บัญชาการไม่ยอม ซึ่งตนมีแนวคิดที่แก้ไขและได้เริ่มกระทำแล้ว

1.เรื่องของอาวุโส 25% ต้องยึดเอาไว้ 

2.เรื่องของโรงพักดีเด่นที่จากเดิม 4% ก็ขอเพิ่มเป็น 12% เมื่อรวมกับของอาวุโส ก็จะเป็น 37% ที่เหลือ 63% ก็จะเป็นเรื่องของดุลยพินิจ และ 

3.การแต่งตั้งครั้งสุดท้าย 2 ปี ไม่ครบไม่ให้ย้าย

"ที่ผ่านมาอุตลุดไปหมด ขอมาเป็นพันราย จัดให้ไปได้ประมาณ 100 ราย การแต่งตั้งในอนาคตจะต้องยึดทั้ง 3 ข้อไว้ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากองค์กรข้างนอกที่เยอะมาก และผมเห็นว่าดี แต่ไม่มีใครกล้ายันในเรื่องนี้ เพราะคนที่ออกมายันมักจะเจ็บตัว ในขณะเดียวกันพวกเด็กเส้นมีฤทธิ์เยอะ ต่อไปพวกที่แตะเส้นจะต้องมีผลงานแตะต้องได้ พวกนักวิ่งทั้งหลายให้จำไว้ การยึดอาวุโสก็มีข้อเสียคือคนที่อาวุโสกว่าตนเองก็อาจเป็นแค่คนที่เกิดก่อน เท่านั้น แต่ไม่มีความรู้ความสามารถ นายบางคนเฮงซวยด้วยซ้ำไป" รรท.ผบ.ตร.ระบุ

พล.ต.อ.ประทีปกล่าวว่า "ที่ผ่านมาพยายามทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็โดนข้อหาโยกย้ายไม่เป็นธรรม ถ้าจะติดคุกก็ติดไป อยากให้สังคมรับรู้ความจริงว่าทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าจะติดคุกก็ยอม ปลดเกษียณแล้วอยู่ในคุกก็ดี จะได้ไม่เหงา ที่ผ่านมาตนคิดจนถูกชกช้ำไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็ยังช้ำอยู่ยังไม่หาย จะหายก็คงจะเป็นพ้น 30 กันยายน 2553 ไปแล้ว"
Read more ...

นอภ.พร้าว"ร้องแต่งตั้งไม่เป็นธรรม ยึด"จ่าเพียร"ต้นแบบ "ปลัด มท."ชี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขั้นต้องยกเลิกคำสั่ง

26/8/53
โดยมติชนออนไลน์ เมื่อ 23 ส.ค.2553

โฆษก ก.พ.ค.เผยคำสั่ง มท.ที่ 28/255 นายอำเภอร้องให้สอบ 3 ปม พบพิรุธขัดกฎ ก.พ. ผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจารณา ลงมติ 7 ต่อ 0 ให้ยกเลิก "นอภ.พร้าว" เปิดใจบุกร้องยึดแบบ"จ่าเพียร" มีผลงานแต่ถูกละเลย ลั่นวิ่งตามนักการเมืองขอตำแหน่งไม่ใช่นิสัย แค่หวังเป็นผลดีถึงน้องๆ เพราะใกล้เกษียณแล้ว

"นอภ.พร้าว" เปิดใจยึดแบบ"จ่าเพียร"

กรณีที่ ก.พ.ค. มีมติให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายอำเภอ ประเภทอำนวยการระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ จำนวน 41 คน ตามคำสั่ง มท.ที่ 28/2553 ลงวันที่ 15 มกราคม 2553 เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรา 42 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

นายปกาศิต มหาสิงห์ นายอำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ 

เปิดเผยว่า ที่ร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้ใช้หลักฐานใดๆ เพราะทราบดีว่าจะไม่ได้รับการรับฟังจากผู้ใด หากแต่ทุกอย่างที่ผลักดันให้ทำ เพราะรับราชการมานาน โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมือง หรืออำเภอใหญ่ๆ ในหลายพื้นที่ การทำหน้าที่หัวหน้าคณะในคดีโค่นป่าสาละวิน ช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เรียกว่ามีผลงานมามากมาย แต่การพิจารณาแต่งตั้งทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดเก่า ชุดใหม่ หรือชุดไหนๆ ไม่เคยได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเลย

"กระทั่งปีที่แล้วมีเรื่องของ

จ่าเพียร(พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา) 

ที่ออกมาร้องขอความเป็นธรรม โดยใช้ผลงานที่ทำมาตลอดชีวิตเรียกร้อง พบการซื้อขายตำแหน่งกันมาก ผมจึงใช้เหตุผลดังกล่าวร้องขอให้ผู้บังคับบัญชาทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง ชี้แจงข้อกำหนดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน เพราะพบว่าไม่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนของ ก.พ.ซึ่งต่อมา ก.พ.ค.สอบสวนข้อเท็จจริง" นายปกาศิตและว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องคือ ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ เพราะสอบได้ที่ 1 ทั้งที่อาวุโสน้อยมาก และเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมดในฐานะเลขานุการ ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อนายอำเภอคนอื่น

เมื่อถามว่าน้อยใจหรือไม่ นายปกาศิตกล่าวว่า น้อยใจแน่นอน เพราะทำงานทุ่มเทมาตลอดชีวิต มุ่งหวังความมั่นคงและความก้าวหน้าในชีวิตราชการ เพราะการเป็นนายอำเภอเมือง นายอำเภอแม่สะเรียง ควรได้ก้าวเป็นปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดตามเส้นทาง เพราะอุดมการณ์ ความชำนาญในฐานะอยู่ชายแดนมาตลอด ยอมเป็นราชสีห์อยู่ในป่า จะให้ไปวิ่งตามนักการเมืองก็ไม่ใช่วิสัย พูดตามตรงเรื่องการเมืองเขาคงดูคนมาช่วยงานได้เป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยการทำงานต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ต้องมองคนทำงานที่ยึดมั่นในอุดมคติ มีจรรยาบรรณของข้าราชการ ไม่ใช่วิ่งเต้นหาตำแหน่งอย่างเดียว อย่างนี้บ้านเมืองไปไม่รอด

"ที่ออกมาร้องเรียนคงไม่ส่งผลกระทบอะไร เพราะปีหน้าจะเกษียณแล้ว ที่ทำถือว่าอย่างน้อยๆ ข้าราชการหรือน้องๆ รุ่นหลังจะได้ประโยชน์ ที่ออกมาร้องขอความเป็นธรรมส่วนใหญ่เพื่อนๆ เขาจะกลัวกัน เพราะเกรงว่าร้องไปก็ไม่มีผล ตอนนี้ยังไม่คิดทำอะไรต่อขอรอดูผลก่อน หากไม่ได้ผลก็เดินหน้าตามขั้นตอนที่เปิดไว้ต่อไป"นายปกาศิตกล่ว

ปลัดมท.ลั่นไม่ใช่เรื่องร้ายแรง

ด้าน นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขั้นตอนในการแต่งตั้งโยกย้าย กระทรวงมหาดไทยมีคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดแรกคือคณะกรรมการสรรหา พิจารณาคัดเลือก ส่วนอีกชุดคือ คณะกรรมการหลังการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีการร้องเรียนก็ต้องให้คณะกรรมการชุด 2 ตรวจสอบพิจารณา และให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีความเห็นว่าการแต่งตั้งนั้น ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดต้องยกเลิกคำสั่ง ส่วนที่ระบุว่า คำสั่งออกช้ากว่าปกตินั้น เพราะกรมการปกครอง ได้แจ้งมาว่า ทางก.พ. จะเพิ่มตำแหน่ง นายอำเภอระดับ 9 อีก 9 อำเภอ จึงมีความเห็นว่าให้รอทำคำสั่งแต่งตั้งไปในครั้งเดียว จะได้ไม่ต้องทำเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง แต่เมื่อถึงเวลา ตำแหน่งยังมาจึงได้มีการตั้งไปก่อน เพราะปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานไปแล้ว ทำให้หลายอำเภอไม่มานายอำเภอในพื้นที่

ส่อกระทบตั้งนภอ.- ผอ.อีก 3 คำสั่ง

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากคำสั่งที่ 28/2553 ต้องยกแล้ว ยังมีคำสั่งอีก 3 คำสั่งที่ออกมาจากการคัดสรรรอบเดียวกัน คือคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 464/2552 คำสั่งที่ 465/2552 และคำสั่ง ที่489/2552 ที่แต่งตั้งนายอำเภอและผู้อำนวยการสำนักฯ ต่างๆ ต้องถูกยกเลิกไปด้วย เพราะ ก.พ.ค. ระบุในคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่าที่ ก.พ.ค.วินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 28/2553 เนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น แต่เท่าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายของข้าราชการกรมการปกครอง ในปี 2552-2553 มีการแยกคำสั่งออกเป็น 4 คำสั่ง โดยให้เกณฑ์การคัดเลือกเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ได้รับมอบหมายจากก.พ.ค.ได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำผลการคัดเลือกที่เกิดจากกระบวนการพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมายมาออกเป็นคำสั่งเลื่อนระดับทั้ง 4 คำสั่ง จึงมีผลให้คำสั่งทั้งหมด เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบตามกฎหมายด้วย

แฉเลิกคำสั่ง7 รองอธิบดียังอืด

สำหรับความคืบหน้ากรณี ก.พ.ค. มีมติเมื่อเดือนมิถุนายน ให้นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงานยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดี 7 คน เนื่องจากสรรหาโดยมิชอบ แต่ปลัดกระทรวงแรงงานยังไม่ได้ดำเนินการตาม อ้างว่า ก.พ.ค.ไม่ได้ระบุให้ดำเนินการเมื่อไหร่นั้น นายพานิช จิตร์แจ้ง ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้ร้อง กล่าวว่า หลังจาก ก.พ.ค.มีมติให้ยกเลิกการแต่งตั้งครั้งนั้น นายสมชายอ้างว่าผิดเฉพาะขั้นตอน แต่ตัวบุคคลที่แต่งตั้งไม่ผิด และพยายามแก้ไขด้วยการเปิดสอบใหม่ อีกทั้งมีความพยายามหาทางออกด้วยการย้ายทั้ง 7 คนพ้นตำแหน่งไปก่อนแล้วค่อยแต่งตั้งเข้าไปใหม่ ถ้าทำเช่นนั้นจริง เชื่อว่าในที่สุดแล้วต้องมีการฟ้องร้องตามมาอีก

นายพานิช กล่าวว่า มติ ก.พ.ค.ที่ออกมากลับไม่ได้ระบุวันที่ให้ปลัดแรงงานดำเนินการให้ชัดเจน ทำให้เรื่องนี้ยืดเยื้อ และเป็นข้ออ้างไม่ปฏิบัติตาม ทั้งที่ระเบียบ ก.พ.ค.ข้อ 57 ระบุว่า "คำวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผูกพันคู่กรณีในการร้องทุกข์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตาม นับแต่วันที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น" ด้วยเหตุนี้ ตนจึงร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ว่า ก.พ.ค.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีวินิจฉัยโดยไม่ระบุวันที่เป็นเหตุให้คู่กรณีนำมาอ้างไม่ปฏิบัติตาม พร้อมร้องเรียนนายสมชายในข้อหาเดียวกัน ส่วนการฟ้องร้องศาลปกครองให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีทั้ง 7 นั้น ขณะนี้ศาลรับฟ้องไว้แล้ว

สำหรับการแต่งตั้งรองอธิบดี 7 คน ที่เป็นโมฆะ ประกอบด้วย นายสุเมธ มโหสถ และนายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ และนายสมชาย วงศ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ และนายประวิทย์ เคียงผล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

"ก.พ.ค."เผย"นอภ."ร้องให้สอบ3ปม

นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการและโฆษกกรรมพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ถึงกรณีที่ ก.พ.ค. มีมติให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายอำเภอ ประเภทอำนวยการระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ จำนวน 41 คน ตามคำสั่ง มท.ที่ 28/2553 ลงวันที่ 15 มกราคม 2553 เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรา 42 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ว่า มติ ก.พ.ค. เกิดขึ้นเพราะนายอำเภอรายหนึ่งเข้าร้องทุกข์ ต่อ ก.พ.ค.ใน 3 กรณีคือ

1. การเลื่อนตำแหน่งไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติของกรมการปกครอง ที่ยึดหลักอาวุโส อีกทั้งยังขัดต่อประกาศกรมการปกครอง เรื่อง การคัดเลือกข้าราชการพลเรือน

2. การเลื่อนตำแหน่งไม่คำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรม ประสบการณ์ และผลงานที่ที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน ทั้งที่ควรนำมาเป็นองค์ประกอบในการเลื่อนตำแหน่ง ไม่ว่าจะอาวุโสในทางวัยวุฒิและอาวุโสในตำแหน่งนานเท่าไร และ

3. การเลื่อนตำแหน่งไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของทางราชการ เกิดการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการแต่งตั้ง อีกทั้งยังออกคำสั่งแต่งตั้งล่าช้า มีลักษณะประวิงเวลาและเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม

เผยสอบพบความจริง 3 ประเด็น

"ก.พ.ค.พิจารณาเรื่องร้องทุกข์พบข้อเท็จจริง คือ

1. การแต่งตั้งขัดต่อหนังสือเวียนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ นร. 0708.1/ว 22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 ที่กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการระดับกระทรวงในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย แต่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจให้คณะกรรมการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการกรมการปกครอง ทำหน้าที่ประเมินบุคคลแทนแล้วเสนอให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามนั้น โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการระดับกระทรวงได้เห็นหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง หรือเป็นผู้พิจารณารายชื่อแต่อย่างใด" นางจรวยพรกล่าวและว่า

2. หนังสือเวียนสำนักงานก.พ. กำหนดให้ส่วนราชการที่มีตำแหน่งว่างเสนอชื่อข้าราชการที่มีคุณสมบัติจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง 1-2 รายชื่อ/ตำแหน่ง ซึ่งกรณีนี้เสนอทั้งบัญชีเกือบ 400 รายชื่อ ทั้งที่มีตำแหน่งว่างเพียง 41 ตำแหน่ง

นางจรวยพร กล่าวอีกว่า

3.ในการพิจารณาของคณะกรรมการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการกรมการปกครอง ปรากฏว่า “ผู้อำนวยการสำนัก”คนหนึ่งมีคุณสมบัติได้รับแต่งตั้ง และมีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกด้วย ได้ทำหน้าที่เลขานุการกรรมการบรรจุฯ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้อำนวยการฯ คนดังกล่าวได้แจ้งเรื่องนี้ให้ผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปได้ทราบ และไม่ยอมงดเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย เท่ากับไม่ยอมดำเนินการตามมาตรา 14, 15, 16 แห่งพ.ร.บ. ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่กำหนดเรื่องความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่เอาไว้

ลงมติเอกฉันท์ 7 ต่อ0ให้เลิก

“เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ ก.พ.ค. มีมติเอกฉันท์ 7 เสียงให้ยกเลิกคำสั่ง มท. ที่ 28/2553 และแจ้งให้นายมานิต วัฒนเสน ปลัดมท.ทราบแล้ว เพื่อดำเนินการคัดเลือกนายอำเภอใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา เพราะถือเป็นเรื่องภายในของมท. แต่โดยหลักการไม่ควรล่าช้า เนื่องจากใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2553 แล้ว สำหรับขั้นตอนต่อไปคือผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกทั้ง 400 คนต้องเข้าสู่กระบวนการใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่” นางจรวยพรกล่าวและว่าส่วนของข้อร้องทุกข์การวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการแต่งตั้งนั้น ก.พ.ค. ได้ตรวจสอบเช่นกัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ากระทำในลักษณะดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามติก.พ.ค.ระบุด้วยว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอำนวยการระดับสูง ในส่วนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยขึ้นใหม่ จนถึงขั้นตอนการออกคำสั่งเลื่อนตำแหน่ง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับการรับทราบคำวินิจฉัย และผลการยกเลิกคำสั่ง จึงทำให้ยังไม่มีผู้ใดได้รับการเลื่อนระดับเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอำนวยการระดับสูง ของกรมการปครอง
Read more ...

ศาลปกครองไม่รับฟ้อง “เพรียวพันธ์” ฟ้อง “นายกฯ” ตั้ง”ปทีป”เป็น รักษาการ ผบ.ตร.

25/8/53

โดย www.isnhotnews.com เมื่อ 16 ส.ค.2553

วันนี้(16ส.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน 

มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดีที่

พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. 

ยื่นฟ้อง

นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้อง 

เรื่องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 ก.ย.52 แต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอาวุโสลำดับที่ 3 ของตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.52 เป็นต้นมา โดยดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ฟ้อง เป็น รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับที่ 1

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจาก สารบบความ เนื่องจากเห็นว่า การแต่งตั้ง ผู้รักษาราชการแทน ผบ.ตร. นั้น ผู้ถูกฟ้องอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ม.72 วรรค 1 (1) ซึ่งเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง และเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่เห็นว่ามี ความเหมาะสม โดยกฏหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องต้องแต่งตั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.เป็นผู้รักษาราชการแทน ผบ.ตร.แต่อย่างใด จึงไม่ถือว่าผู้ฟ้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี

ต่อมาผู้ฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์อ้างว่า หากผู้ถูกฟ้องไม่ดำเนินการออกคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนดังกล่าว ผู้ฟ้องย่อมจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการแทน ผบ.ตร.โดยชอบด้วยกฎหมายได้ทันทีตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯและจารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติที่จะยึดถือลำดับอาวุโส โดยผู้ฟ้องเป็นผู้มีสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการและมีอาวุโสสูงสุดในขณะ นั้น

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า 

การที่มีคำสั่งสำนักนายกฯ แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ปทีป ซึ่งเป็นจเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.52 เป็นการแต่งตั้งเนื่องจาก ผบ.ตร.พ้นจากตำแหน่งโดยการเกษียณอายุราชการและขณะนั้นยังไมสามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ได้ ผู้ถูกฟ้องในฐานะผู้บังคับบัญชา จึงได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรรักษาราชการแทน ซึ่งเป็นมาตราการภายในของฝ่ายปกครองและเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติลักษณะบังคับให้ผู้ถูกฟ้องต้อง แต่งตั้ง รองผบ.ตร.เป็นผู้รักษาราชการแทนและเมื่อการแต่งตั้งผู้รักษาราชการ แทนไม่ได้เป็นการแต่งตั้งที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตำรวจแห่ง ชาติเหมือนการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ดังนั้นแม้ผู้ฟ้องจะเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษา ราชการแทน ผบ.ตร. ตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้าง แต่ไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำดังกล่าวและไม่ใช่ผู้มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกคำสั่งดังกล่าว

ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลปกครองสูงสุดเห็นฟ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง
Read more ...

ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนการแต่งตั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ขึ้นเป็น รองผบ.ตร. นอกวาระปี 51

24/8/53
โดย คมชัดลึก เมื่อ 24 ส.ค.2553

ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกฯ ตั้ง “พล.ต.ท.วัชรพล” ผช.ผบ.ตร. ขึ้น รอง ผบ.ตร. เมื่อปี 52 ข้ามอาวุโส “พล.ต.ท. ชลอ ชูวงษ์” ชี้เร่งรีบแต่งตั้งไม่เป็นกลางให้มีผลย้อนไป 3 เม.ย.52

เมื่อ 24 ส.ค.2553

นายวิริยะ ว่องวาณิช ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน 
มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 7 เม.ย.52 ลำดับที่ 3 ที่แต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วยผู้บัญชาการแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.52 เป็นต้นไป

โดยคดีนี้ พล.ต.อ.ชลอ ชูวงษ์ ผช.ผบ.ตร. ยื่นฟ้อง

-ผบ.ตร. สมัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ,

-คณะกรรมการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับ รองผบ.ตร. ,

-คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และ

-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 – 4
กรณีร่วมกันกระทำการโดยมิชอบ โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เสนอชื่อ พล.ต.ท.วัชรพล ผช.ผบ.ตร. ซึ่งมีอาวุโสลำดับที่ 2 ที่จะขึ้นรองผบ.ตร.และเสนอให้ผู้ฟ้องคดีกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นที่ปรึกษา สบ.10 ซึ่งมีศักดิ์และค่าตอบแทนเงินประจำตำแหน่งน้อยกว่า รอง ผบ.ตร.และตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10 กำหนดขึ้นมาเพื่อประสงค์จะฉ้อฉลในการแต่งตั้ง โดยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องปริมาณงานตามหลักการบริหารงานบุคคลแต่อย่างใด โดยก.ตร.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้เคยเห็นชอบการแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร.ที่มีอาวุโสน้อยกว่าผู้ฟ้องคดีขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร. แล้ว 6 ราย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 บัญญัติขั้นตอนการแต่งตั้งตำรวจ โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ตรวจสอบคุณสมบัติและกระบวนการสรรหาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งการโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและ รอง ผบ.ตร. พ.ศ.2549
โดยคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีความเร่งรีบและไม่เป็นอิสระอย่างชัดแจ้งคือ ผบ.ตร. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีบันทึกถึง คณะกรรมการคัดเลือกฯผู้ถูกฟ้องที่ 2 เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติและความเหมาะสมของข้าราชการเรียงลำดับ

1. พล.ต.อ. วิเชียร ซึ่งดำรงตำแหน่ง ประจำสำนักงาน ตร. ให้เป็นที่ปรึกษา สบ 10ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ

2. พล.ต.ท. ชลอ ผู้ฟ้องคดี ผช.ผบ.ตร. ให้เป็นที่ปรึกษา สบ 10 ด้านป้องกันปราบปราม

3. พล.ต.ท.วัชรพล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้เป็นรอง ผบ.ตร. 

โดยในวันเดียวกัน ผู้บังคับการกองกำลังพล ผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีข้อความเชิญคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประชุมตรวจคุณสมบัติในวันที่ 19 มีนาคม 2552 ขณะที่ ผบ.ตร. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีบันทึกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 แจ้งผลการพิจารณาว่าควรคัดเลือกข้าราชการตำรวจตามที่เสนอทุกราย

ดังนั้น การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ประชุมเพื่อพิจารณาดังกล่าวโดยมี ผบ.ตร. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ร่วมพิจารณาด้วยเข้าลักษณะว่ามีสภาพร้ายแรง ซึ่งจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

การแจ้งกำหนดนัดประชุมเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติในวันที่ 19 มีนาคม 2552 ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อ้างว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนนั้นเห็นว่า ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง เหตุเพราะ พล.ต.อ.ปรุง บุญผดุง รอง ผบ.ตร.ไปเป็นหัวหน้านายตำรวจราชสำนักตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 แต่ ผบ.ตร.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการคัดเลือกแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวในทันที

ดังนั้นการคัดเลือก รองผบ.ตร.จึงไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้งมีเหตุน่าสงสัยว่าการเรียกประชุมในวันที่ 19 มีนาคม 2552 ได้มีการประชุมจริงหรือไม่หรือเป็นการแจ้งเวียนส่งเรื่องเพื่อขอรับความเห็นจากคณะกรรมการคัดเลือกฯผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตาม ประกาศของก.ตร. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและประวัติรับราชการของ พล.ต.ท. ชลอ ผู้ฟ้องคดี กับ พล.ต.ท.วัชรพล ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น รอง ผบ.ตร. ยังเห็นว่ามีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด อาทิ ในส่วนของผู้ฟ้องระบุว่ามีความรู้ความสามารถด้านการบริหารและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเป็นอย่างดี ส่วน พล.ต.ท. วัชรพล ระบุว่า มีอาวุโสลำดับ 2 ในกลุ่ม ผช.ผบ.ตร. เคยเป็น ผบช.ปส. เป็นผู้มีความรอบรู้ประสบการณ์ด้านบริหาร อำนวยการของตำรวจเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฎิบัติและความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลที่มีผลต่อการพิจารณาคัดเลือก สำหรับสิทธิประโยชน์และเงินค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10 กับ รอง ผบ.ตร. ก็พบว่าไม่เท่ากัน โดยตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.มีศักดิ์สูงกว่า ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงเดือนละ 21,000 บาท และเงินค่าตอบแทนอีกเดือนละ 21,000 บาท ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษา สบ 10 ได้รับเงินค่าประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะเดือนละ 15, 600 บาท และเงินค่าตอบแทนอีกเดือนละ 15,600 บาท

ขณะที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีอาวุโสลำดับที่ 1 และไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องมีความบกพร่องเรื่องประวัติรับราชการความประพฤติและผลปฏิบัติงาน โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ก็ยอมรับถึงความรู้ความสามารถของผู้ฟ้องด้านบริหารและป้องกันปราบปรามแต่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ไม่ได้กระทำในสิ่งที่ควรทำ กลับแต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ซึ่งมีอาวุโสลำดับที่ 2 เป็น รอง ผบ.ตร. ดังนั้นการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ดังนั้นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 7 เมษายน 2552 ที่แต่งตั้ง พล.ต.ท. วัชรพล เป็น รองผบ.ตร.จึงมิชอบด้วยเช่นกัน

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกฯ เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามีการแต่งตั้ง ผช.ผบ.ตร. อาวุโสน้อยกว่าผู้ฟ้องคดีเป็นรอง ผบ.ตร.ข้ามวาระของ ผู้ฟ้องคดีไปแล้ว 6 ราย ประกอบด้วย

พล.ต.อ. วิโรจน์ พหลเวชช์ ,
พล.ต.อ. ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ,
พล.ต.อ. ปานศิริ ประภาวัติ ,
พล.ต.อ. จงรัก จุฑานนท์ ,
พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย และ
พล.ต.อ. วันชัย ศรีนวลนัด นั้น 

ศาลเห็นว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทั้ง 6 ราย เกิดขึ้นในช่วงปี 2549 - 2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษา ซึ่งการแต่งตั้งเป็นไปตามสภาพข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น แม้ว่าคำพิพากษาของศาลคดีนี้จะระบุให้มีผลทางกฎหมายว่าผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่ง ผช.ผบ.ตร.ต่อเนื่องตลอดมา แต่ไม่ได้มีผลในทางกฎหมายย้อนหลังที่จะมีผลกระทบต่อการแต่งตั้งตำแหน่งซึ่งได้ดำเนินการตามข้อเท็จจริงในขณะนั้นได้

พิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 7 เมษายน 2552 ที่แต่งตั้ง พล.ต.ท. วัชรพล เป็น รองผบ.ตร. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2552 เป็นต้นไป ส่วนคำข้ออื่นให้ยก
Read more ...

ตร.กำหนดแนวทางการแต่งตั้งวาระประจำปี 2553

15/8/53
โดยผู้จัดการ เมื่อ 13 ส.ค.2553

ตร.กำนหดหลักเกณฑ์แต่งตั้งประจำปี 53 จัดทำบัญชีโปร่งใสตรวจสอบได้ พิจารณาอาวุโสเพิ่มเป็นร้อยละ 33 ประกอบหลักเกณฑ์ด้านจรรยาบณและจริยธรรม พร้อมจัดเกรดหน่วยงาน ห้ามผู้ครบเกณฑ์ปีแรกข้ามหัวหากคุณสมบัติไม่ครบ

เมื่อ13 ส.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. ได้มีบันทึกข้อความที่ 0009.231/3024 เรื่องแนวทางการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระประจำปี 2553 ลงวันที่ 11 ส.ค. ถึงนายตำรวจระดับผู้บัญชาการ(ผบช.) หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า และผบก. ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือเทียบเท่า

โดยบันทึกข้อความดังกล่าวมีใจความว่า ขณะนี้นี้อยู่ในช่วงแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระประจำปี 2553 ซึ่งการดำเนินการต้องปฏิบัติตามกฎ ก.ตร. โดยเคร่งครัด ประกอบกับที่ประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมามีมติรับทราบ พร้อมวินิจฉัยปัญหาการตีความกฎ ก.ตร. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งแล้ว เพื่อใก้การแต่งตั้งเป้นไปด้วยความเรียบร้อยจึงให้ทุกหน่วยปฏิบัตดังนี้

1.การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นระดับ ผบช. ถึง สว. ตามกฎ ก.ตร. ข้อ 33(2)ต้องพิจารณาเรียงลำดับตามอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ก.ตร.ได้มีนโยบายเพิ่มสัดส่วนเป้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 33 หากคำนวนณแล้วมีเศษทศนิยมให้ปัดเป็นจำนวนเต็ม

2.ข้าราชการตำรวจที่ได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นครั้งแรก ให้พิจารณาไปดำรงตำแหน่งว่างดังนี้ หากในหน่วยมีทั้งตำแหน่งที่มีปริมาณและคุณภาพงานมาก และปริมาณคุณภาพงานน้อย ให้ไปดำรงตำแหน่งที่มีปรมาณคุณภาพงานน้อยก่อน หากเป้นหน่วยงานที่มีคุณภาพงานมากอย่างเดียว ให้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกับผัดำรงตำแหน่งที่มีปริมาณคุณภาพงานน้อยแต่มีผลปฏิบัติงานดีเด่นไปดำรงตำแหน่งที่มีปริมาณคุณภาพมากที่ว่างอยู่ก่อน

3.ให้นำกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 และประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 มาพิจารณาประกอบด้วย 

4.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่เพิ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนปีแรกให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น จะต้องแสดงเหตุผลความรู้ความสามารถ ผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีกว่าข้าราชการตำรวจรายอื่น ซึ่งมีลำดับอาวุโสสูงกว่า พร้อมบันทึกในรายงานารประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก

5.ข้าราชการตำรวจที่มีผลปฏิบัติงานดีเด่นให้หน่วยพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษตามแนวทางดังนี้ คือ ข้าราชการตำรวจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศตามโครงการพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อประชาชนปี 2553 แต่ละกลุ่มโดยหลักการถือเป็นผลงานหัวหน้าสถานี แต่หากมีข้อมูลชัดว่าเป็นผลงานของข้าราชการตำรวจรายใดให้พิจารณาด้วยหากมีคุณสมบัติครบถ้วนในการเลื่อนตำแหน่ง ส่วนที่ยังมีคุณสมบัติไม่ครบให้แต่งตั้งสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปดำรงตำแหน่งในสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีปริมาณคุณภาพงานสูงขึ้นหรืออยู่ตำแหน่งเดิมต่อไป สว่นข้าราชการตำรวจตำแหน่ง พงส.(สบ3) หรือ พงส.(สบ2) ที่ได้รับรางวัลพนักงานสอบสวนดีเด่นประจำปี 2553 หากไม่ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ให้เลื่อนระดับชั้นเป็น รอง ผกก.สส. ในสถานีตำรวจที่มีปริมาณคุณภาพงานมากขึ้น หรือเป็น สว.สภ. แล้วแต่กรณี หรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตำแหน่ง พงส.(สบ3) หรือ พงส.(สบ2) ในสถานีตำรวจที่มีปริมาณคุณภาพงานมากขึ้นตามความสมัครใจ

6.การพิจารณาจัดทำบัญชีผู้เหมาะสมหรือบัญชีสรรหา ซึ่งได้กำหนดให้หน่วยพิจารณาผู้เหมาะสมให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นให้เหลือจำนวนไม่เกินร้อยละ 50 ของผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในแต่ละระดับตำแหน่ง แต่ทั้งนี้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 เท่าของจำนวนตำแหน่งว่าง โดยเจตนารมยณ์ของกฎ ก.ตร. ดังกล่าวต้องการหาผู้เหมาะสมให้มีจำนวนมากที่สุด แต่ไม่เกินกรอบจำนวนที่กำหนด เพื่อให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณาได้อย่างกว้างขวาง และมากพอที่จะเกิดความเป็นธรรมกับผู้มีสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้ง เพราะในทางปฏิบัติบางหน่วยพิจารณาผู้เหมาะสมน้อยเกินไป 

7.การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งระดับสูงขึ้นตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง ข้อ 33(2) ซึ่งกำหนดแต่งตั้งเรียงตามอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของตำแหน่งว่างซึ่งเปลี่ยนเป็น ร้อยละ 33 ซึ่งมีเจตนาเพื่อข้าราชการตำรวจในหน่วยงานใดๆ ได้รับโอกาสเจริญหน้าที่การงานในหน่วยงานนั้นให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้มีอาวุโสสูง ดังนั้นการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ให้พิจารณาจากจำนวนตำแหน่งว่างอันเกิดจากการเกษียณอายุราชการ ลาออก เสียชีวิต ไล่ออก ปลดออก การกำหนดตำแหน่งใหม่เป้นต้น

8.การคัดเลือกข้าราชการตำรวจให้เลื่อตำแหน่งสูงขึ้นให้พิจารณาเรียงตามความเหมาะสมโดยเปรียบเทียบกับตำแหน่งทีจะคัดเลือก โดยมีเจตนาเพื่อให้ข้าราชการตำรวจที่มีความรู้ความสามารถเหมาะกับตำแหน่งที่แต่งตั้งมากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์แก่หน่วยงาน ตร. โดยต้องพิจารณาเรียงลำดับข้าราชการตำรวจที่มีความเหมาะสมมากที่สุดไปถึงน้อยที่สุด โดยเปรียบเทียบกับตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง 

9. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงให้ทุกหน่วยจัดทำลำดับอาวุโสของข้าราชการตำรวจในสังกัด และประกาศให้ทราบโดยทั่วกันล่วงหน้าก่อนแต่งตั้ง โดยผู้เห็นว่าการจัดลำดับอาวุโสไม่ถูกต้อง สามารถยื่นยื่นทบทวนภายใน 7 วัน พร้อมให้ผู้มีอำนาจตรวจสอบแก้ไขให้เสร็จก่อนคัดเลือกแต่งตั้ง โดยทุกหน่วยต้องทำบัญชีอาวุโสระดับ รอง ผบก. ถึง ผบก. แล้วประกาศให้ทราบภายในวันที่ 20 ส.ค.นี้

10.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งระดับ ผบช.เป้นอำนาจของ ผบ.ตร.ให้ ผบช. หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า จัดทำบัญชีรายชื่อระดับ รอง ผบช. ผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งส่ง ตร.ภายในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ส่วนระดับ ผบก. และ รอง ผบช.ตร. จะกำหนดเวลาให้ทุกหน่วยดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง
Read more ...

คดียังไม่ถึงที่สุด ไปออกคำสั่งไล่ออกข้าราชการได้หรือไม่

11/8/53
โดย เวบ charuaypontorranin.com

นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการและโฆษก ก.พ.ค. ได้รายงานผลการวินิจฉัยอุทธรณ์กรณีตัวอย่างของ ก.พ.ค. ในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ๑ เมษายน ๒๕๕๓ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ข้าราชการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกโดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือลงโทษที่หนักกว่าจำคุก เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามกฎ ก.พ.ฉบับที่๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวนได้ แต่หากคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด หน่วยงานทางปกครองมิอาจสั่งลงโทษโดยไม่มีการสอบสวนได้ เพราะถือว่า เป็นการสั่งลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีนี้เกิดจากผู้อุทธรณ์นายหนึ่งซึ่งรับราชการในต่างจังหวัด ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค.ว่าถูกกรมต้นสังกัดได้มีคำสั่งไล่ตนออกจากราชการ ฐานกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกตามมาตรา ๑๓๓ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กรณีทำบัตรประชาชนปลอมให้แก่ราษฎรสองราย โดยเรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการดำเนินการ 

ซึ่งศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า พฤติการณ์ที่ไปกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑ จำคุก ๖ ปี นั้นชอบแล้ว แต่โดยที่ผู้อุทธรณ์รายนี้ได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการในเรื่องอื่นไปก่อนแล้ว และได้อุทธรณ์ว่า การที่จังหวัดระบุว่าคดีถึงที่สุดแล้วนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากขณะนี้ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาและศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งแต่อย่างใด ในการพิจารณาขอให้ ก.พ.ค.รอผลการพิจารณาของศาลฎีกาก่อน หรือขอให้ลดหย่อนโทษ

ก.พ.ค. จึงต้องพิจารณาว่าคู่กรณีในอุทธรณ์จะมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามมาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา แม้ภายหลังผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้ว ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒วรรคสาม วรรคสี่ หรือวรรคห้า หรือมาตรา ๑๐๔ วรรคสามแล้วแต่กรณี มีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาตามมาตรา ๙๙ และดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ และแม้ว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕จะได้ถูกยกเลิกไป 

แต่โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๑๓๓ ได้บัญญัติว่า ให้อำนาจสั่งลงโทษหรือให้ออกจากราชการเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ส่วนการสอบสวน การพิจารณา และการดำเนินการเพื่อลงโทษให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้นเมื่อผู้อุทธรณ์มีกรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาตั้งแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕ ก่อนวันที่๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันที่บทบัญญัติในลักษณะ ๔ และ ๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ใช้บังคับ กรมต้นสังกัดจึงย่อมสามารถที่จะมีคำสั่งลงโทษได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่ข้าราชการผู้นี้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาไว้ก่อน เสมือนว่าข้าราชการผู้นี้ยังมิได้ออกจากราชการ

กรณีมีประเด็นพิจารณาต่อไปว่ากรมต้นสังกัดมีคำสั่งลงโทษไล่ข้าราชการผู้นี้ออกจากราชการ ฐานกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก โดยถือว่าเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอุทธรณ์ฟังขึ้นหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโดยที่เรื่องนี้คดีอาญาของข้าราชการผู้นี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงมิใช่กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุด การที่กรมต้นสังกัดลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากได้รับแจ้งจากจังหวัดว่าคดีของข้าราชการผู้นี้ถึงที่สุด เป็นการพิจารณาลงโทษโดยผิดหลง และแม้ว่ากรมจะอ้างว่ากรมมีคำสั่งลงโทษเมื่อล่วงพ้นระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว ก็ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากหากตรวจสอบผลคดีอาญาให้ครบถ้วนถูกแล้วก่อนที่จะดำเนินการออกคำสั่ง กรมก็จะสามารถทราบผลคดีอาญาที่แท้จริงได้ คำสั่งกรมที่สั่งลงโทษข้าราชการผู้นี้ออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เรื่องที่ ๒ การลงโทษทางวินัย ต้องรอผลคดีอาญาหรือไม่

การดำเนินการทางวินัยให้รีบดำเนินการโดยเร็ว ไม่ต้องรอผลคดีอาญาว่าจะเป็นประการใด เพราะการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญานั้น ผู้บังคับบัญชามีอำนาจดำเนินการได้ โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินคดีอาญา เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา

กรณีนี้ผู้อุทธรณ์เป็นข้าราชการพลเรือนรายหนึ่ง ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค.ว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา และได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลจังหวัดไว้แล้ว โดยศาลจังหวัดได้ส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาแล้ว และผู้อุทธรณ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ตามคำสั่งอนุญาตของศาลอุทธรณ์ภาค การพิจารณาโทษทางวินัยผู้อุทธรณ์ของกรมต้นสังกัดล้วนแต่ใช้ข้อพิจารณาและคำวินิจฉัยของศาลเป็นหลักเกือบทั้งหมด เมื่อคดีทางอาญายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้นการพิจารณาลงโทษทางวินัยก็ควรรอผลคดีอาญาจนถึงที่สุดด้วย คำสั่งกรมที่ ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการตั้งแต่ จึงไม่ถูกต้อง และมีคำขอให้ยกเลิกคำสั่งเนื่องจากยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ รวมทั้งตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑

ประเด็นแรกที่ ก.พ.ค.ได้วินิจฉัย คือคำสั่งกรมที่ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ เป็นการดำเนินการถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคณะ

กรรมการสอบสวนทางวินัยได้แจ้งข้อกล่าวหาตามแบบ สว.๒ ซึ่งให้ผู้อุทธรณ์ลงนามรับทราบ รวมทั้งได้สอบสวนรวบรวมหลักฐานโดยแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานจากสำนวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้เข้าจับกุมในที่เกิดเหตุ ตามแบบ สว.๓ ให้ผู้อุทธรณ์ลงนามรับทราบ ผู้อุทธรณ์ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยมีพยานบุคคลสองรายเข้าชี้แจงด้วย จึงเป็นการให้โอกาสผู้อุทธรณ์ชี้แจงและนำสืบข้อกล่าวหาของตนแล้ว และมิได้ใช้เพียงคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมเป็นหลักฐานสำคัญอย่างเดียวโดยไม่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอื่นประกอบการการพิจารณา แม้ผู้อุทธรณ์จะปฏิเสธแต่ก็ยอมรับว่าของกลางที่เป็นยาเสพติดพบที่ตัวผู้อุทธรณ์ โดยมีชาวต่างชาติผู้หนึ่งเป็นผู้ให้มา ส่วนชาวต่างชาติผู้นั้นก็ให้การยอมรับว่าเป็นผู้ส่งให้ผู้อุทธรณ์ แม้คดียังไม่ถึงที่สุด โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ก็ตาม ก็เชื่อได้ว่า ผู้อุทธรณ์ได้ครอบครองยาเสพติด อันเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสมกับหน้าที่ราชการไม่รักษาชื่อเสียงของตนและไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตนมิให้เสื่อมเสีย การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๑๓๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามที่ถูกสอบสวน

สำหรับประเด็นที่ผู้อุทธรณ์อ้างว่า การพิจารณาโทษทางวินัยก็ควรรอฟังผลคดีทางอาญาจนถึงที่สุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกำหนดแนวทางปฏิบัติตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ สร ๐๙๐๔/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙ ที่ว่า “การสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไม่จำเป็นที่จะต้องรอฟังผลทางคดีอาญา” ก็เพื่อให้ส่วนราชการได้เร่งรัดทำการสอบสวนพิจารณาโทษข้าราชการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว การนำแนวทางปฏิบัติตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ฉบับดังกล่าว มาใช้บังคับ จึงสามารถกระทำได้ ดังนั้น การดำเนินการของคู่กรณีในอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวจึงเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว เมื่อการสอบสวนพิจารณารับฟังได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และ อ.ก.พ. กรมได้ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยเห็นว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อมากรมได้มีคำสั่ง ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงถูกต้องตามกฎหมายและระดับโทษเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น เห็นควรยกอุทธรณ์

เรื่องที่ ๓ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืน ขอลดหย่อนโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกได้หรือไม่ 
เมื่อคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หน่วยงานทางปกครองก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ได้มีการวางแนวทางการลงโทษไว้แล้ว ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.๐๒๐๕/ว ๒๓๔ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืน หรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใดไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออกจากราชการ การลงโทษโดยไล่ออกจากราชการ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้าราชการรายหนึ่งได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค. และมีคำขอว่าการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยมติอ.ก.พ. จังหวัดมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยไม่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน (แบบ ป.๒) และใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ตามระเบียบราชการ และนำเงินค่าธรรมเนียมไปใช้ส่วนตัวเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลบุตรชายที่ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา ๘๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น เป็นการลงโทษที่หนักเกินไปและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้อุทธรณ์ โดยไม่นำความดีความชอบและประวัติการทำงานมาลดหย่อนผ่อนโทษ อีกทั้งตนเองได้สารภาพเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน และเชื่อว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น จึงขอให้มีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเหลือปลดออก

ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัย คือ กระบวนการสอบสวนและพิจารณาโทษของผู้อุทธรณ์ได้กระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อย่างไร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้ตามรายงานของเจ้าหน้าที่การเงินได้รายงานว่า ผู้อุทธรณ์ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานทะเบียนอาวุธปืนของอำเภอ มีพฤติการณ์ไม่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมอาวุธปืนตามระเบียบของทางราชการ 

เมื่ออำเภอได้ตรวจสอบพบ ผู้อุทธรณ์จึงนำเงินค่าธรรมเนียม ส่งให้เจ้าหน้าที่การเงิน เข้าลักษณะความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นไปตามแนวทางการลงโทษข้าราชการตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๒๐๕/ ว. ๒๓๔ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ ดังนั้นการที่จังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้อุทธรณ์ โดยได้แจ้งและให้โอกาสผู้อุทธรณ์ชี้แจงข้อกล่าวหาและให้ถ้อยคำ ในส่วนของ การดำเนินการสอบสวนและพิจารณาโทษผู้อุทธรณ์จึงเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว

ประเด็นที่สองที่ต้องวินิจฉัย คือ คำสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์เหมาะสมกับกรณีความผิดหรือไม่ อย่างไร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโดยที่ผู้อุทธรณ์ไม่ได้โต้แย้งสาระสำคัญของกระบวนการสอบสวนหรือการพิจารณาโทษ คงโต้แย้งเฉพาะระดับโทษ โดยขอลดหย่อนโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ และได้พิเคราะห์ว่า คำสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์เหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว เนื่องจากผู้อุทธรณ์ไม่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมโดยอ้างว่าใบอนุญาตชำรุด หลุดจากเล่ม ทำให้หาต้นขั้วไม่เจอ 

เมื่อตรวจพบจึงนำเงินค่าธรรมเนียมส่งเจ้าหน้าที่การเงิน สำหรับเรื่องการออกใบอนุญาต นั้น ปรากฏว่าไม่ได้นำส่งเงินโดยอ้างความจำเป็นเกี่ยวกับบุตร พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ

ตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.๐๒๐๕/ว ๒๓๔ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ ซึ่งวางแนวทางการลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือละทิ้งหน้าที่ราชการ ว่าควรลงโทษไล่ออกจากราชการ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืนหรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใดไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษ ลงเป็นปลดออกจากราชการ คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงเหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงมีมติเป็นคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ 
Read more ...

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม