นอภ.พร้าว"ร้องแต่งตั้งไม่เป็นธรรม ยึด"จ่าเพียร"ต้นแบบ "ปลัด มท."ชี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขั้นต้องยกเลิกคำสั่ง

26/8/53
โดยมติชนออนไลน์ เมื่อ 23 ส.ค.2553

โฆษก ก.พ.ค.เผยคำสั่ง มท.ที่ 28/255 นายอำเภอร้องให้สอบ 3 ปม พบพิรุธขัดกฎ ก.พ. ผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจารณา ลงมติ 7 ต่อ 0 ให้ยกเลิก "นอภ.พร้าว" เปิดใจบุกร้องยึดแบบ"จ่าเพียร" มีผลงานแต่ถูกละเลย ลั่นวิ่งตามนักการเมืองขอตำแหน่งไม่ใช่นิสัย แค่หวังเป็นผลดีถึงน้องๆ เพราะใกล้เกษียณแล้ว

"นอภ.พร้าว" เปิดใจยึดแบบ"จ่าเพียร"

กรณีที่ ก.พ.ค. มีมติให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายอำเภอ ประเภทอำนวยการระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ จำนวน 41 คน ตามคำสั่ง มท.ที่ 28/2553 ลงวันที่ 15 มกราคม 2553 เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรา 42 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

นายปกาศิต มหาสิงห์ นายอำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ 

เปิดเผยว่า ที่ร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้ใช้หลักฐานใดๆ เพราะทราบดีว่าจะไม่ได้รับการรับฟังจากผู้ใด หากแต่ทุกอย่างที่ผลักดันให้ทำ เพราะรับราชการมานาน โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมือง หรืออำเภอใหญ่ๆ ในหลายพื้นที่ การทำหน้าที่หัวหน้าคณะในคดีโค่นป่าสาละวิน ช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เรียกว่ามีผลงานมามากมาย แต่การพิจารณาแต่งตั้งทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดเก่า ชุดใหม่ หรือชุดไหนๆ ไม่เคยได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเลย

"กระทั่งปีที่แล้วมีเรื่องของ

จ่าเพียร(พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา) 

ที่ออกมาร้องขอความเป็นธรรม โดยใช้ผลงานที่ทำมาตลอดชีวิตเรียกร้อง พบการซื้อขายตำแหน่งกันมาก ผมจึงใช้เหตุผลดังกล่าวร้องขอให้ผู้บังคับบัญชาทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง ชี้แจงข้อกำหนดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน เพราะพบว่าไม่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนของ ก.พ.ซึ่งต่อมา ก.พ.ค.สอบสวนข้อเท็จจริง" นายปกาศิตและว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องคือ ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ เพราะสอบได้ที่ 1 ทั้งที่อาวุโสน้อยมาก และเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมดในฐานะเลขานุการ ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อนายอำเภอคนอื่น

เมื่อถามว่าน้อยใจหรือไม่ นายปกาศิตกล่าวว่า น้อยใจแน่นอน เพราะทำงานทุ่มเทมาตลอดชีวิต มุ่งหวังความมั่นคงและความก้าวหน้าในชีวิตราชการ เพราะการเป็นนายอำเภอเมือง นายอำเภอแม่สะเรียง ควรได้ก้าวเป็นปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดตามเส้นทาง เพราะอุดมการณ์ ความชำนาญในฐานะอยู่ชายแดนมาตลอด ยอมเป็นราชสีห์อยู่ในป่า จะให้ไปวิ่งตามนักการเมืองก็ไม่ใช่วิสัย พูดตามตรงเรื่องการเมืองเขาคงดูคนมาช่วยงานได้เป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยการทำงานต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ต้องมองคนทำงานที่ยึดมั่นในอุดมคติ มีจรรยาบรรณของข้าราชการ ไม่ใช่วิ่งเต้นหาตำแหน่งอย่างเดียว อย่างนี้บ้านเมืองไปไม่รอด

"ที่ออกมาร้องเรียนคงไม่ส่งผลกระทบอะไร เพราะปีหน้าจะเกษียณแล้ว ที่ทำถือว่าอย่างน้อยๆ ข้าราชการหรือน้องๆ รุ่นหลังจะได้ประโยชน์ ที่ออกมาร้องขอความเป็นธรรมส่วนใหญ่เพื่อนๆ เขาจะกลัวกัน เพราะเกรงว่าร้องไปก็ไม่มีผล ตอนนี้ยังไม่คิดทำอะไรต่อขอรอดูผลก่อน หากไม่ได้ผลก็เดินหน้าตามขั้นตอนที่เปิดไว้ต่อไป"นายปกาศิตกล่ว

ปลัดมท.ลั่นไม่ใช่เรื่องร้ายแรง

ด้าน นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขั้นตอนในการแต่งตั้งโยกย้าย กระทรวงมหาดไทยมีคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดแรกคือคณะกรรมการสรรหา พิจารณาคัดเลือก ส่วนอีกชุดคือ คณะกรรมการหลังการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีการร้องเรียนก็ต้องให้คณะกรรมการชุด 2 ตรวจสอบพิจารณา และให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีความเห็นว่าการแต่งตั้งนั้น ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดต้องยกเลิกคำสั่ง ส่วนที่ระบุว่า คำสั่งออกช้ากว่าปกตินั้น เพราะกรมการปกครอง ได้แจ้งมาว่า ทางก.พ. จะเพิ่มตำแหน่ง นายอำเภอระดับ 9 อีก 9 อำเภอ จึงมีความเห็นว่าให้รอทำคำสั่งแต่งตั้งไปในครั้งเดียว จะได้ไม่ต้องทำเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง แต่เมื่อถึงเวลา ตำแหน่งยังมาจึงได้มีการตั้งไปก่อน เพราะปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานไปแล้ว ทำให้หลายอำเภอไม่มานายอำเภอในพื้นที่

ส่อกระทบตั้งนภอ.- ผอ.อีก 3 คำสั่ง

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากคำสั่งที่ 28/2553 ต้องยกแล้ว ยังมีคำสั่งอีก 3 คำสั่งที่ออกมาจากการคัดสรรรอบเดียวกัน คือคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 464/2552 คำสั่งที่ 465/2552 และคำสั่ง ที่489/2552 ที่แต่งตั้งนายอำเภอและผู้อำนวยการสำนักฯ ต่างๆ ต้องถูกยกเลิกไปด้วย เพราะ ก.พ.ค. ระบุในคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่าที่ ก.พ.ค.วินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 28/2553 เนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น แต่เท่าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายของข้าราชการกรมการปกครอง ในปี 2552-2553 มีการแยกคำสั่งออกเป็น 4 คำสั่ง โดยให้เกณฑ์การคัดเลือกเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ได้รับมอบหมายจากก.พ.ค.ได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำผลการคัดเลือกที่เกิดจากกระบวนการพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมายมาออกเป็นคำสั่งเลื่อนระดับทั้ง 4 คำสั่ง จึงมีผลให้คำสั่งทั้งหมด เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบตามกฎหมายด้วย

แฉเลิกคำสั่ง7 รองอธิบดียังอืด

สำหรับความคืบหน้ากรณี ก.พ.ค. มีมติเมื่อเดือนมิถุนายน ให้นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงานยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดี 7 คน เนื่องจากสรรหาโดยมิชอบ แต่ปลัดกระทรวงแรงงานยังไม่ได้ดำเนินการตาม อ้างว่า ก.พ.ค.ไม่ได้ระบุให้ดำเนินการเมื่อไหร่นั้น นายพานิช จิตร์แจ้ง ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้ร้อง กล่าวว่า หลังจาก ก.พ.ค.มีมติให้ยกเลิกการแต่งตั้งครั้งนั้น นายสมชายอ้างว่าผิดเฉพาะขั้นตอน แต่ตัวบุคคลที่แต่งตั้งไม่ผิด และพยายามแก้ไขด้วยการเปิดสอบใหม่ อีกทั้งมีความพยายามหาทางออกด้วยการย้ายทั้ง 7 คนพ้นตำแหน่งไปก่อนแล้วค่อยแต่งตั้งเข้าไปใหม่ ถ้าทำเช่นนั้นจริง เชื่อว่าในที่สุดแล้วต้องมีการฟ้องร้องตามมาอีก

นายพานิช กล่าวว่า มติ ก.พ.ค.ที่ออกมากลับไม่ได้ระบุวันที่ให้ปลัดแรงงานดำเนินการให้ชัดเจน ทำให้เรื่องนี้ยืดเยื้อ และเป็นข้ออ้างไม่ปฏิบัติตาม ทั้งที่ระเบียบ ก.พ.ค.ข้อ 57 ระบุว่า "คำวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผูกพันคู่กรณีในการร้องทุกข์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตาม นับแต่วันที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น" ด้วยเหตุนี้ ตนจึงร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ว่า ก.พ.ค.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีวินิจฉัยโดยไม่ระบุวันที่เป็นเหตุให้คู่กรณีนำมาอ้างไม่ปฏิบัติตาม พร้อมร้องเรียนนายสมชายในข้อหาเดียวกัน ส่วนการฟ้องร้องศาลปกครองให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีทั้ง 7 นั้น ขณะนี้ศาลรับฟ้องไว้แล้ว

สำหรับการแต่งตั้งรองอธิบดี 7 คน ที่เป็นโมฆะ ประกอบด้วย นายสุเมธ มโหสถ และนายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ และนายสมชาย วงศ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ และนายประวิทย์ เคียงผล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

"ก.พ.ค."เผย"นอภ."ร้องให้สอบ3ปม

นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการและโฆษกกรรมพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ถึงกรณีที่ ก.พ.ค. มีมติให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายอำเภอ ประเภทอำนวยการระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ จำนวน 41 คน ตามคำสั่ง มท.ที่ 28/2553 ลงวันที่ 15 มกราคม 2553 เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรา 42 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ว่า มติ ก.พ.ค. เกิดขึ้นเพราะนายอำเภอรายหนึ่งเข้าร้องทุกข์ ต่อ ก.พ.ค.ใน 3 กรณีคือ

1. การเลื่อนตำแหน่งไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติของกรมการปกครอง ที่ยึดหลักอาวุโส อีกทั้งยังขัดต่อประกาศกรมการปกครอง เรื่อง การคัดเลือกข้าราชการพลเรือน

2. การเลื่อนตำแหน่งไม่คำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรม ประสบการณ์ และผลงานที่ที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน ทั้งที่ควรนำมาเป็นองค์ประกอบในการเลื่อนตำแหน่ง ไม่ว่าจะอาวุโสในทางวัยวุฒิและอาวุโสในตำแหน่งนานเท่าไร และ

3. การเลื่อนตำแหน่งไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของทางราชการ เกิดการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการแต่งตั้ง อีกทั้งยังออกคำสั่งแต่งตั้งล่าช้า มีลักษณะประวิงเวลาและเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม

เผยสอบพบความจริง 3 ประเด็น

"ก.พ.ค.พิจารณาเรื่องร้องทุกข์พบข้อเท็จจริง คือ

1. การแต่งตั้งขัดต่อหนังสือเวียนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ นร. 0708.1/ว 22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 ที่กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการระดับกระทรวงในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย แต่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจให้คณะกรรมการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการกรมการปกครอง ทำหน้าที่ประเมินบุคคลแทนแล้วเสนอให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามนั้น โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการระดับกระทรวงได้เห็นหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง หรือเป็นผู้พิจารณารายชื่อแต่อย่างใด" นางจรวยพรกล่าวและว่า

2. หนังสือเวียนสำนักงานก.พ. กำหนดให้ส่วนราชการที่มีตำแหน่งว่างเสนอชื่อข้าราชการที่มีคุณสมบัติจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง 1-2 รายชื่อ/ตำแหน่ง ซึ่งกรณีนี้เสนอทั้งบัญชีเกือบ 400 รายชื่อ ทั้งที่มีตำแหน่งว่างเพียง 41 ตำแหน่ง

นางจรวยพร กล่าวอีกว่า

3.ในการพิจารณาของคณะกรรมการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการกรมการปกครอง ปรากฏว่า “ผู้อำนวยการสำนัก”คนหนึ่งมีคุณสมบัติได้รับแต่งตั้ง และมีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกด้วย ได้ทำหน้าที่เลขานุการกรรมการบรรจุฯ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้อำนวยการฯ คนดังกล่าวได้แจ้งเรื่องนี้ให้ผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปได้ทราบ และไม่ยอมงดเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย เท่ากับไม่ยอมดำเนินการตามมาตรา 14, 15, 16 แห่งพ.ร.บ. ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่กำหนดเรื่องความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่เอาไว้

ลงมติเอกฉันท์ 7 ต่อ0ให้เลิก

“เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ ก.พ.ค. มีมติเอกฉันท์ 7 เสียงให้ยกเลิกคำสั่ง มท. ที่ 28/2553 และแจ้งให้นายมานิต วัฒนเสน ปลัดมท.ทราบแล้ว เพื่อดำเนินการคัดเลือกนายอำเภอใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา เพราะถือเป็นเรื่องภายในของมท. แต่โดยหลักการไม่ควรล่าช้า เนื่องจากใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2553 แล้ว สำหรับขั้นตอนต่อไปคือผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกทั้ง 400 คนต้องเข้าสู่กระบวนการใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่” นางจรวยพรกล่าวและว่าส่วนของข้อร้องทุกข์การวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการแต่งตั้งนั้น ก.พ.ค. ได้ตรวจสอบเช่นกัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ากระทำในลักษณะดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามติก.พ.ค.ระบุด้วยว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอำนวยการระดับสูง ในส่วนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยขึ้นใหม่ จนถึงขั้นตอนการออกคำสั่งเลื่อนตำแหน่ง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับการรับทราบคำวินิจฉัย และผลการยกเลิกคำสั่ง จึงทำให้ยังไม่มีผู้ใดได้รับการเลื่อนระดับเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอำนวยการระดับสูง ของกรมการปครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม