คดียังไม่ถึงที่สุด ไปออกคำสั่งไล่ออกข้าราชการได้หรือไม่

11/8/53
โดย เวบ charuaypontorranin.com

นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการและโฆษก ก.พ.ค. ได้รายงานผลการวินิจฉัยอุทธรณ์กรณีตัวอย่างของ ก.พ.ค. ในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ๑ เมษายน ๒๕๕๓ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ข้าราชการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล

ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกโดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือลงโทษที่หนักกว่าจำคุก เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามกฎ ก.พ.ฉบับที่๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวนได้ แต่หากคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด หน่วยงานทางปกครองมิอาจสั่งลงโทษโดยไม่มีการสอบสวนได้ เพราะถือว่า เป็นการสั่งลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีนี้เกิดจากผู้อุทธรณ์นายหนึ่งซึ่งรับราชการในต่างจังหวัด ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค.ว่าถูกกรมต้นสังกัดได้มีคำสั่งไล่ตนออกจากราชการ ฐานกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกตามมาตรา ๑๓๓ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ กรณีทำบัตรประชาชนปลอมให้แก่ราษฎรสองราย โดยเรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการดำเนินการ 

ซึ่งศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า พฤติการณ์ที่ไปกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑ จำคุก ๖ ปี นั้นชอบแล้ว แต่โดยที่ผู้อุทธรณ์รายนี้ได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการในเรื่องอื่นไปก่อนแล้ว และได้อุทธรณ์ว่า การที่จังหวัดระบุว่าคดีถึงที่สุดแล้วนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากขณะนี้ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาและศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งแต่อย่างใด ในการพิจารณาขอให้ ก.พ.ค.รอผลการพิจารณาของศาลฎีกาก่อน หรือขอให้ลดหย่อนโทษ

ก.พ.ค. จึงต้องพิจารณาว่าคู่กรณีในอุทธรณ์จะมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามมาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา แม้ภายหลังผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้ว ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐๒วรรคสาม วรรคสี่ หรือวรรคห้า หรือมาตรา ๑๐๔ วรรคสามแล้วแต่กรณี มีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาตามมาตรา ๙๙ และดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ และแม้ว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕จะได้ถูกยกเลิกไป 

แต่โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๑๓๓ ได้บัญญัติว่า ให้อำนาจสั่งลงโทษหรือให้ออกจากราชการเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ส่วนการสอบสวน การพิจารณา และการดำเนินการเพื่อลงโทษให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้นเมื่อผู้อุทธรณ์มีกรณีต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาตั้งแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๓๕ ก่อนวันที่๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันที่บทบัญญัติในลักษณะ ๔ และ ๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ใช้บังคับ กรมต้นสังกัดจึงย่อมสามารถที่จะมีคำสั่งลงโทษได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่ข้าราชการผู้นี้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาไว้ก่อน เสมือนว่าข้าราชการผู้นี้ยังมิได้ออกจากราชการ

กรณีมีประเด็นพิจารณาต่อไปว่ากรมต้นสังกัดมีคำสั่งลงโทษไล่ข้าราชการผู้นี้ออกจากราชการ ฐานกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก โดยถือว่าเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอุทธรณ์ฟังขึ้นหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโดยที่เรื่องนี้คดีอาญาของข้าราชการผู้นี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงมิใช่กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุด การที่กรมต้นสังกัดลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากได้รับแจ้งจากจังหวัดว่าคดีของข้าราชการผู้นี้ถึงที่สุด เป็นการพิจารณาลงโทษโดยผิดหลง และแม้ว่ากรมจะอ้างว่ากรมมีคำสั่งลงโทษเมื่อล่วงพ้นระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว ก็ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากหากตรวจสอบผลคดีอาญาให้ครบถ้วนถูกแล้วก่อนที่จะดำเนินการออกคำสั่ง กรมก็จะสามารถทราบผลคดีอาญาที่แท้จริงได้ คำสั่งกรมที่สั่งลงโทษข้าราชการผู้นี้ออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เรื่องที่ ๒ การลงโทษทางวินัย ต้องรอผลคดีอาญาหรือไม่

การดำเนินการทางวินัยให้รีบดำเนินการโดยเร็ว ไม่ต้องรอผลคดีอาญาว่าจะเป็นประการใด เพราะการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญานั้น ผู้บังคับบัญชามีอำนาจดำเนินการได้ โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินคดีอาญา เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา

กรณีนี้ผู้อุทธรณ์เป็นข้าราชการพลเรือนรายหนึ่ง ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค.ว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา และได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลจังหวัดไว้แล้ว โดยศาลจังหวัดได้ส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาแล้ว และผู้อุทธรณ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ตามคำสั่งอนุญาตของศาลอุทธรณ์ภาค การพิจารณาโทษทางวินัยผู้อุทธรณ์ของกรมต้นสังกัดล้วนแต่ใช้ข้อพิจารณาและคำวินิจฉัยของศาลเป็นหลักเกือบทั้งหมด เมื่อคดีทางอาญายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้นการพิจารณาลงโทษทางวินัยก็ควรรอผลคดีอาญาจนถึงที่สุดด้วย คำสั่งกรมที่ ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการตั้งแต่ จึงไม่ถูกต้อง และมีคำขอให้ยกเลิกคำสั่งเนื่องจากยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ รวมทั้งตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑

ประเด็นแรกที่ ก.พ.ค.ได้วินิจฉัย คือคำสั่งกรมที่ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ เป็นการดำเนินการถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคณะ

กรรมการสอบสวนทางวินัยได้แจ้งข้อกล่าวหาตามแบบ สว.๒ ซึ่งให้ผู้อุทธรณ์ลงนามรับทราบ รวมทั้งได้สอบสวนรวบรวมหลักฐานโดยแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานจากสำนวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้เข้าจับกุมในที่เกิดเหตุ ตามแบบ สว.๓ ให้ผู้อุทธรณ์ลงนามรับทราบ ผู้อุทธรณ์ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยมีพยานบุคคลสองรายเข้าชี้แจงด้วย จึงเป็นการให้โอกาสผู้อุทธรณ์ชี้แจงและนำสืบข้อกล่าวหาของตนแล้ว และมิได้ใช้เพียงคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมเป็นหลักฐานสำคัญอย่างเดียวโดยไม่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอื่นประกอบการการพิจารณา แม้ผู้อุทธรณ์จะปฏิเสธแต่ก็ยอมรับว่าของกลางที่เป็นยาเสพติดพบที่ตัวผู้อุทธรณ์ โดยมีชาวต่างชาติผู้หนึ่งเป็นผู้ให้มา ส่วนชาวต่างชาติผู้นั้นก็ให้การยอมรับว่าเป็นผู้ส่งให้ผู้อุทธรณ์ แม้คดียังไม่ถึงที่สุด โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ก็ตาม ก็เชื่อได้ว่า ผู้อุทธรณ์ได้ครอบครองยาเสพติด อันเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสมกับหน้าที่ราชการไม่รักษาชื่อเสียงของตนและไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตนมิให้เสื่อมเสีย การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๑๓๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามที่ถูกสอบสวน

สำหรับประเด็นที่ผู้อุทธรณ์อ้างว่า การพิจารณาโทษทางวินัยก็ควรรอฟังผลคดีทางอาญาจนถึงที่สุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกำหนดแนวทางปฏิบัติตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ สร ๐๙๐๔/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙ ที่ว่า “การสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไม่จำเป็นที่จะต้องรอฟังผลทางคดีอาญา” ก็เพื่อให้ส่วนราชการได้เร่งรัดทำการสอบสวนพิจารณาโทษข้าราชการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว การนำแนวทางปฏิบัติตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ฉบับดังกล่าว มาใช้บังคับ จึงสามารถกระทำได้ ดังนั้น การดำเนินการของคู่กรณีในอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวจึงเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว เมื่อการสอบสวนพิจารณารับฟังได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และ อ.ก.พ. กรมได้ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยเห็นว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อมากรมได้มีคำสั่ง ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงถูกต้องตามกฎหมายและระดับโทษเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น เห็นควรยกอุทธรณ์

เรื่องที่ ๓ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืน ขอลดหย่อนโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกได้หรือไม่ 
เมื่อคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หน่วยงานทางปกครองก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ได้มีการวางแนวทางการลงโทษไว้แล้ว ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.๐๒๐๕/ว ๒๓๔ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืน หรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใดไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออกจากราชการ การลงโทษโดยไล่ออกจากราชการ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้าราชการรายหนึ่งได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค. และมีคำขอว่าการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยมติอ.ก.พ. จังหวัดมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยไม่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน (แบบ ป.๒) และใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ตามระเบียบราชการ และนำเงินค่าธรรมเนียมไปใช้ส่วนตัวเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลบุตรชายที่ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยตามมาตรา ๘๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น เป็นการลงโทษที่หนักเกินไปและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้อุทธรณ์ โดยไม่นำความดีความชอบและประวัติการทำงานมาลดหย่อนผ่อนโทษ อีกทั้งตนเองได้สารภาพเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน และเชื่อว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น จึงขอให้มีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเหลือปลดออก

ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัย คือ กระบวนการสอบสวนและพิจารณาโทษของผู้อุทธรณ์ได้กระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อย่างไร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้ตามรายงานของเจ้าหน้าที่การเงินได้รายงานว่า ผู้อุทธรณ์ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานทะเบียนอาวุธปืนของอำเภอ มีพฤติการณ์ไม่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมอาวุธปืนตามระเบียบของทางราชการ 

เมื่ออำเภอได้ตรวจสอบพบ ผู้อุทธรณ์จึงนำเงินค่าธรรมเนียม ส่งให้เจ้าหน้าที่การเงิน เข้าลักษณะความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นไปตามแนวทางการลงโทษข้าราชการตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๒๐๕/ ว. ๒๓๔ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ ดังนั้นการที่จังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้อุทธรณ์ โดยได้แจ้งและให้โอกาสผู้อุทธรณ์ชี้แจงข้อกล่าวหาและให้ถ้อยคำ ในส่วนของ การดำเนินการสอบสวนและพิจารณาโทษผู้อุทธรณ์จึงเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว

ประเด็นที่สองที่ต้องวินิจฉัย คือ คำสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์เหมาะสมกับกรณีความผิดหรือไม่ อย่างไร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโดยที่ผู้อุทธรณ์ไม่ได้โต้แย้งสาระสำคัญของกระบวนการสอบสวนหรือการพิจารณาโทษ คงโต้แย้งเฉพาะระดับโทษ โดยขอลดหย่อนโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ และได้พิเคราะห์ว่า คำสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์เหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว เนื่องจากผู้อุทธรณ์ไม่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมโดยอ้างว่าใบอนุญาตชำรุด หลุดจากเล่ม ทำให้หาต้นขั้วไม่เจอ 

เมื่อตรวจพบจึงนำเงินค่าธรรมเนียมส่งเจ้าหน้าที่การเงิน สำหรับเรื่องการออกใบอนุญาต นั้น ปรากฏว่าไม่ได้นำส่งเงินโดยอ้างความจำเป็นเกี่ยวกับบุตร พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ

ตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบมติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.๐๒๐๕/ว ๒๓๔ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ ซึ่งวางแนวทางการลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือละทิ้งหน้าที่ราชการ ว่าควรลงโทษไล่ออกจากราชการ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืนหรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใดไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษ ลงเป็นปลดออกจากราชการ คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงเหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงมีมติเป็นคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม