เสรีพิศุทธ์ อดีตผบ.ตร.จ่อร้องแต่งตั้ง รองผบช.ก ขึ้นเป็น ผบช.ภ.1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

20/9/53
โดยไอเอ็นเอ็น เมื่อ 20 ก.ย.2553

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ตนเองกำลังร่างหนังสือเพื่อที่จะยื่นให้ผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง โยกย้ายนายพลตำรวจระดับ รองผบ.ตร. ถึง ผบช. ในกรณีของ

พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบช.ก. 

ที่จะขึ้นเป็น ผบช.ภ.1 ที่จะขึ้นตำแหน่ง โดยจะมอบหมายให้ตัวแทนไปยื่นหนังสือ ที่ทำเนียบรัฐบาล คาดว่าน่าจะ เป็นวันที่ 21 กันยายน นี้ โดยเหตุผลที่ยื่นหนังสือครั้งนี้ เพราะหากแต่งตั้งไปแล้ว อาจจะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสียหายได้ ในภายหลัง จึงแจ้งให้ผู้อำนาจทบทวนคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวก่อน

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทางอดีต ผบ.ตร. ออกมาคัดค้านการแต่งตั้งดังกล่าวนั้น เพราะพบเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง การปฏิบัติงานต้องสงสัย ขณะเป็นที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) 

ดังนั้นตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 นั้น การคัดเลือกแต่งตั้งและการให้ความเห็นชอบให้ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รอง ผบช.ก.ให้ดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.1 เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย
Read more ...

เสรี ร้องให้ตรวจสอบการตั้ง ศรีวราห์ เป็นผู้บัญชาการภาค 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

7/9/53
โดยผู้จัดการ เมื่อ 5 ก.ย.2553

“เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” อดีต ผบ.ตร. ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องระงับ เสนอโปรดเกล้าฯ “พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล” เป็น ผบช.ภ.1 หลังพบเบิกค่าเลี้ยงย้อนหลังไม่ถูกต้องขณะเป็นที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า)

วันนี้ (5 ก.ย.) เมื่อเวลา 17.30 น.

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. 

นำเอกสารเรื่อง “ขอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบ และระงับยับยั้งการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ และพระราชทานยศสูงขึ้นของ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบช.ก.” โดยเอกสารทั้งหมดมีความหนาจำนวน 20 หน้า และประทับตราด่วนที่สุดที่หน้าแรกมุมบนด้านซ้าย

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวระบุว่า ได้รับหนังสือจากข้าราชการตำรวจผู้รักความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.53 ว่า การแต่งตั้ง 

พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบช.ก. 

เป็นที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.53 เป็นต้นมา โดยการปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาดังกล่าว พล.ต.ต.ศรีวราห์ได้เบิกเงินค่าเสี่ยงภัย ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าเลี้ยงดูย้อนหลังตั้งแต่ เม.ย.53 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในห้วงระยะเวลาที่ซ้ำซ้อนกันดังกล่าว พล.ต.ต.ศรีวราห์อยู่ระหว่างการศึกษาอบรมหลักสูตร วปอ.มีกำหนด 1 ปี จึงไม่น่าที่จะปฏิบัติหน้าที่ปรึกษาดังกล่าวที่ กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) โดยได้แนบเอกสารหลักฐานต่างๆ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยมาให้พิจารณา

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจครั้งล่าสุด ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ จเร ตร. และรอง ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่าลงมา ถึง ผบช.หรือตำแหน่งเทียบเท่า โดยเห็นชอบแต่งตั้ง พล.ต.ต.ศรีวราห์ รอง ผบช.ก.ดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.1 (ยศ พล.ต.ท.) ซึ่งขณะนี้รักษาการ ผบ.ตร.ได้นำรายชื่อข้าราชการตำรวจที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติเห็นชอบดังกล่าวเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และพระราชทานยศสูงขึ้นแล้ว

ตนได้พิจารณาตามเอกสารที่ส่งมา ประกอบหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานเป็นทวีคูณของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.53 แล้วขอเรียนนายกรัฐมนตรีว่า การคัดเลือกแต่งตั้งและการให้ความเห็นชอบ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รอง ผบช.ก.ให้ดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.1 เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเป็นมติที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างชัดเจน เพียงเพื่อช่วยเหลือ พล.ต.ต.ศรีวราห์ให้ได้รับยศและตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งผู้รับผิดชอบอาจจะต้องรับโทษตามกฎหมายได้ พร้อมกันนี้ได้แนบเอกสารใบเบิกรับค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัย และค่าเบี้ยเลี้ยงของ พล.ต.ต.ศรีวราห์ มาด้วย
Read more ...

จัดทัพ36นายพลตำรวจ ปชป.-ภท.เหมายกเข่ง

2/9/53
โดยโพสต์ทูเดย์ เมื่อ 2 ก.ย.2553

อิทธิกร เถกิงมหาโชค

โผตำรวจทุกครั้ง คนที่เจ็บปวดที่สุดคือ ผบ.ตร. ที่ต้องอยู่ระหว่างความขัดแย้งของทั้งฝ่ายการเมือง และคนในรั้วสีกากีด้วยกัน ในท่ามกลางขั้วอำนาจที่แตกแยก...

รุกก้าวอีกขั้นของพลังการเมืองที่สอดแทรกผ่านโผนายพลตำรวจ 36 อรหันต์ ระลอกล่าสุด คือดัชนีชี้ชัดว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่มีวันหลุดพ้นบ่วงวังวนการเมืองไปได้ หนนี้แยกเป็น 

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และที่ปรึกษา (สบ 10) 6 เก้าอี้ 
ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. 11 เก้าอี้ และ 
ระดับผู้บัญชาการ (ผบช.) 19 เก้าอี้

ยิ่งเมื่อชำแหละเส้นทางดาวเงินของนายพลแต่ละสาย ที่ฝ่าด่านคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง นั่งหัวโต๊ะ มานั่งเก้าอี้มีชื่ออยู่ในโผงวดนี้ได้ ต้องยกนิ้วโป้งซูฮกว่าไม่ธรรมดา!

แม้จะอยู่ในช่วงผ่องถ่ายอำนาจจาก 

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ไปยัง 
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. (บร 1) ว่าที่ ผบ.ตร. หมายเลข 7 แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้มีอำนาจสูงสุดนาทีนี้คือ พล.ต.อ.ปทีป ไม่ใช่ พล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามี "ใบสั่ง" จากฝ่ายการเมืองเต็มพรืดไปหมด จนน่าหนักใจสำหรับว่าที่ ผบ.ตร.ใหม่ ดังนั้น นายพลที่ได้นั่งเก้าอี้ต้องใช้กำลังภายในสูง พ่วงกับ "ไฟเขียว" จากฝ่ายการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

ปัจจัยที่ต้องมองการณ์ไกลคือ การเตรียมรับมือการเลือกตั้งที่งวดเข้ามาแล้ว แม้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะพยายามสร้างเสถียรภาพในพรรคร่วมรัฐบาลให้เข้มแข็ง แต่ก็เป็นแค่การยืดอายุในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งความพยายาม "วางสาย" ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในแวดวงข้าราชการประจำก็ถูกจับตามองว่าเป็นหนามตำใจ ปชป.ในการช่วงชิงคะแนนเสียงในอนาคตคงไม่ผิดนัก

ดูจากรายชื่อที่ผ่านมติ ก.ตร.เพื่อแต่งตั้งแล้ว น่าสนใจอย่างยิ่งกับเก้าอี้ รอง ผบ.ตร.(ตัวหลัก) ที่ต้องยกคืนให้ พล.ต.อ.ชลอ ชูวงศ์ เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ (นรต.) 26 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังยื่นฟ้องชนะจนศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2552 ที่แต่งตั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็น รอง ผบ.ตร. ซึ่งถูกพิจารณาแต่งตั้งข้ามลำดับความอาวุโส

ร้อนถึงที่ประชุม ก.ตร. ต้องโหวตลงมติ 16 ต่อ 4 เสียง สนับสนุนให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ภายใน 30 วัน ซึ่งเท่ากับขณะนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ซึ่งเติบโตและได้ดีเป็น รอง ผบ.ตร.ในยุค พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ต้องถูก "เว้นวรรค" อย่างช่วยไม่ได้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีชื่อลุ้นแคนดิเดต ผบ.ตร.จากแรงดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ตามแต่ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ส่วนทางลงคงต้องต้องรอจนกว่ากระบวนการทางอุทธรณ์จะถึงที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มสูงทาง ก.ตร.อาจมีคำสั่งโยก พล.ต.อ.วัชรพล พ้นเก้าอี้รอง ผบ.ตร.หลัก มาดำรงตำแหน่ง ประจำ สตช. ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะ ซึ่งอาจทำให้ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ที่เดิมว่างอยู่ 6 ตำแหน่ง เพิ่มเป็น 7 ตำแหน่ง ส่งผลให้ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 7 คนในสาย ภท.มีโอกาสได้เลื่อนเป็น รอง ผบ.ตร.ในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้

แรงต้านในระดับ รอง ผบ.ตร.จึงต้องมองการจับขั้วกันของ 

พล.ต.อ.ชลอ กับ 
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่เขย พ.ต.ท.ทักษิณ 

ที่ยังเหลืออายุราชการยาวถึงปี 2555 ว่าจะพยายามกระแซะเก้าอี้ ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.วิเชียร อย่างไร ทว่า นาทีนี้กำลังทั้งคู่ยังอ่อนอยู่ แต่เชื่อแน่ว่า ปชป.คงไม่ประมาทและจับตาดูความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดกั้นตัวแทนฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ เต็มที่อยู่แล้ว

มองได้ว่า ศึกนอกจากฝ่ายการเมืองคือ ปชป. และ ภท. เมื่อผนวกกับศึกในคือ การแย่งชิงเก้าอี้กันเป็นใหญ่จะลายเป็น "เงื่อนไขสงคราม" ในทุกระดับของ สตช.ไล่ตั้งแต่ระดับ รอง ผบ.ตร.ที่มีชื่อ 

พล.ต.อ.วุฒิ พัวเวส นรต.27 

เจ้าของวลีสะเทือนวงการยุติธรรรม "ผู้ก่อการดี" เมื่อครั้งเป็น หน.คณะพนักงานสอบสวนคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกยึดสนามบิน จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลือง

รวมถึง 

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว นรต.29 

ที่เสี่ยงภัยทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 

พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา นรต.28 

เพื่อนร่วมรุ่น พล.ต.อ.วิเชียร ว่าที่ ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบดูแลคดีระเบิดในพื้นที่ กทม. อาจเป็น "ตัวช่วย" คานอำนาจกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลขณะนี้ ที่ไม่ตกขบวนแน่นอนคือ 

พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ได้เลื่อนเป็น ที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านปราบปราม 

จะกลายเป็นหัวหอกสำคัญในการไล่ล่าและสกัดกั้นขบวนการต่อต้านรัฐบาลอย่างดี หลังโชว์ผลงานจนเข้าตาจึงได้ตอบแทนด้วยยศ พล.ต.อ.ครั้งนี้

ในระดับ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ทายาทคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ได้ดีด้วยคือ 

พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 น้องชาย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช. 

รวมทั้ง 

พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.สตม. น้องชาย นายสุวัฒน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และ 

พล.ต.ท.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ผบช. ประจำ สง.ผบ.ตร. (ทนท.ที่ปรึกษา สปท.บก.ทท.) ลูกเขย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน และอดีต ผบ.ตร.

ก็จะเป็นเชื้อการเมืองชั้นดีให้กับพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจชี้นำอนาคตการเมืองไทยได้

เก้าอี้ที่น่าสนใจอย่างยิ่งในระดับปฏิบัติการ ต้องโฟกัสไปที่นครบาล 

พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. (ทนท.ประสานงานนายกรัฐมนตรี) นรต.36

คว้า ผบช.น.ไปครอง จากผลงานไล่ล่ามือวางระเบิดที่ทำการพรรค ภท. จึงได้แรงส่งสูงเขี่ย 

พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. (นรต.28) เข้ากรุประจำ สง.ผบ.ตร. 

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.สัณฐาน เคยแนบแน่นกับนายสุเทพ จนสร้างความฮือฮากระโดดข้ามจาก ผบช.ภ.8 มาคุม บช.น.ได้ ซึ่งบางส่วนมองว่า ได้แรงหนุนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ด้วย ในฐานะเพื่อนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ (นตท.) 12

แต่เมื่อรั้งตำแหน่งแล้วกลับไม่มีผลงานเด่น อีกทั้งเจอมรสุม "ระเบิดการเมือง" ซ้ำซากจนเก้าอี้หัก เพราะแรงยิงระเบิดเอ็ม 79 ทั้งที่ลานจอดรถสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ถล่มห้างคิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ 2 ครั้งซ้อนเมื่อวันที่ 26 ส.ค. และวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา จึงต้านแรง พล.ต.ท.จักรทิพย์ ไม่อยู่จำใจต้องเปิดทางให้ ทว่า การโยก นรต.36 มาคุม บช.น.แทน นรต.28 ซึ่งห่างชั้นกันถึง 12 รุ่น จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อสายบังคับบัญชาในนครบาลแน่นอน

อีกทั้งยังมีปมคาใจการครองตำแหน่ง รอง ผบช. มาได้เพียง 1 ปี 8 เดือน และมีอายุราชการเพียง 27 ปี ก่อนได้ติดยศ พล.ต.ท. เป็น ผบช. อย่างเร่งรีบรวบรัด ทั้งที่กฎ ก.ตร.ปี 2549 ระบุว่า รอง ผบช. เลื่อนเป็น ผบช. ต้องเป็น รอง ผบช. มาไม่น้อยกว่า 2 ปี และระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมตั้งแต่ระดับรอง สว.ไม่น้อยกว่า 28 ปี ค้ำคออยู่ การขึ้นสู่เก้าอี้ ผบช.น.จึงต้องฝ่าขวากหนามอีกไกล

นอกจากนั้นยังมี 

พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบช.ก. 

มือสอบสวนได้แรงสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร รมว. กลาโหม พี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. เป็น ผบช.ภ.1 

พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ รอง ผบช.ก. 

ที่มีผลงานคดีสำคัญมากมายรวมถึงคดีจับกุมนายวิกเตอร์ บูต พ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซีย และเป็นนักสืบตัวยง ได้ดีกรีความสามารถขึ้นเป็น ผบช.ก. แทน 

พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. สามี "แม่เลี้ยงติ๊ก" นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู แกนนำ ปชป. ที่ไร้ผลงานโดดเด่นสมัครใจโยกเป็น ผบช.ภ.2 ก่อนเกษียณ
ในส่วนโควตานายสุเทพ กับพรรค ภท.ก็แบ่งกันลงตัว 

พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. คู่เขย พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ

ขยับนั่งเก้าอี้สำคัญ ผบช.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ท.ประยูร อำมฤต ผบช.สำนักยุทธศาสตร์ ลูกหม้อตำรวจตระเวนชายแดน มือทำงาน พล.ต.อ.วิเชียร ว่าที่ ผบ.ตร. คืนถิ่นเก่าเป็น ผบช.ตชด. 

พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย ลูกรัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 

ยังนั่งที่เดิมเป็น ผบช.ตำรวจสันติบาล เพราะเป็นลูกหม้อมานาน และงานด้านการข่าวก็เป็นที่พึงพอใจของรัฐบาล

พล.ต.ท.อาจินต์ โชติวงศ์ ผบช.สง.ก.ตร. สายตรงนายสุเทพ 

ขยับมาเป็น ผบช.ภ.6 คุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 

พล.ต.ต.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ รอง ผบช.ภ.8 สายตรงอีกคนของนายสุเทพ 

แม้จะรั้งอาวุโสอันดับ 17 แต่ก็ได้แรงเสริมนับวันทวีคูณจากการปฏิบัติหน้าที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น ผบช.ภ.8 คุมพื้นที่ฐานเสียงให้ ปชป.ได้ไม่ยาก

แต่ก็ยังมีโควตาคนเสื้อเหลืองสอดไส้มาร่วมด้วยคือ 

พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์กุล รอง ผบช.ตำรวจสันติบาล คนสนิทนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. 

ซึ่งมีชื่อลุ้นขึ้น ผบช.มาหลายรอบ จนประสบผลสำเร็จขยับนั่ง ผบช.ภ. 5 พื้นที่สีแดงนัยว่าเพื่อคุมกลุ่มม็อบเสื้อแดงภาคเหนือให้อยู่หมัดหลัง พล.ต.ท.สมคิด ลุกจากเก้าอี้ไปแล้ว

โผตำรวจทุกครั้ง คนที่เจ็บปวดที่สุดคือ ผบ.ตร. ที่ต้องอยู่ระหว่างความขัดแย้งของทั้งฝ่ายการเมือง และคนในรั้วสีกากีด้วยกัน ในท่ามกลางขั้วอำนาจที่แตกแยกแม้ใน ปชป.เองก็ยังมีทั้งตำรวจสายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ ที่นั่งประธาน ก.ตร. ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจ และมีคนสนิทที่ฝากฝังกันลงมา เพื่อวางตัวคนในคาถาไว้ห้ำหั่นกับฝ่ายตรงข้าม

แม้จะมีความพยายามสร้างบรรทัดฐานต่อสู้เพื่อให้เกิดระบบคุณธรรมและความชอบธรรมในเรื่องอาวุโส ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ มีการวางหลักเกณฑ์พิจารณาน้ำหนักอาวุโส 33% เพื่อหวังลดแรงเสียดทานของฝ่ายการเมือง และสกัดกั้นการวิ่งเต้นกระโดดข้ามอาวุโส แต่ท้ายที่สุดเมื่อคลอดโผออกมา สตช.ก็ไม่พ้นคำครหาต่อว่าต่างๆ นานา

สาเหตุเพราะคนในองค์กรตำรวจเองต้านแรงการเมืองไม่อยู่ จึงกลายเป็นเบี้ยล่างรับใช้นักการเมืองอยู่ร่ำไป!
Read more ...

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม