ถกไม่ย้าย “สมเพียร” นัดแรกไร้ข้อสรุป-จ่อสอบลึกหาคนผิด!

24/3/53


24 มีนาคม 2553 17:16 น.
กรรมการพิจารณายกเว้นหลักเกณฑ์ ถกหาคนผิดกรณีไม่แต่งตั้ง ผกก.สมเพียร ประชุมนัดแรกไร้ข้อสรุป เตรียมสอบลึกไปถึงกระบวนการแต่งตั้งในภาค 9 หาความบกพร่องเหตุใดไม่รับ ผกก.สมเพียร มาดำรงตำแหน่งใน สภ.กันตัง ตามที่ร้องขอ รอวันศุกร์ที่ 26 มี.ค. บช.ภ.9-ผบช.ศชต.แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.เอก อังสนานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณายกเว้นหลักเกณฑ์ในสมัยการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรอง ผบก.-ผกก.วาระประจำปี 2552 เป็นประธานการประชุมตรวจสอบการแต่งตั้งใน บช.ภ.9 ร่วมกับ พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงษ์ ผบช.ก.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชัยยง กีรติขจร รอง ผบช.สกพ. ตัวแทนจากกองร้องทุกข์ ก.ตร. และกองการวินัย ให้พิจารณาตรวจสอบข้อบกพร่องการแต่งตั้งใน บช.ภ.9 เน้นเฉพาะในกรณีของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา โดยใช้เวลาการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.ท.เอก กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้หารือกรณีที่ไม่มีการแต่งตั้งพล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา มาดำรงตำแหน่งที่ สภ.กันตัง ซึ่งวันนี้ได้มีการนำหนังสือร้องทุกข์ของ พล.ต.อ.สมเพียร ที่ได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. และนำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถแต่งตั้งได้จาก พล.ต.ท.วีระยุทธ สิทธิมาลิก บช.ภ. 9 และ พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชษฎ์ ผบช.ศชต. แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดมากพอ ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะให้ พล.ต.ท.วีระยุทธ และ พล.ต.ท.พีระ มาชี้แจงและให้ถ้อยคำด้วยตนเอง ซึ่งนัดวันเวลาไว้แล้ว ในวันศุกร์ที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปว่ามีความบกพร่องตรงไหน อย่างไร

“เรื่องนี้ถ้าถามจริงๆ แล้วปัญหาของ พล.ต.อ.สมเพียร ทางฝ่ายคณะกรรมการตรวจสอบการยกเว้นหลักเกณฑ์ไม่ทราบปัญหามาก่อนเลย เพราะ พล.ต.อ.สมเพียร ดำรงตำแหน่งเดิมมากว่า 3 ปี อยู่ในกรณีที่ไม่ต้องขอยกเว้นหลักเกณฑ์ ทางเราจึงไม่ทราบปัญหา มารู้อีกทีก็ทราบว่า ท่านไปร้องกับทางนายกรัฐมนตรีด้วยวาจาและมาร้องทุกข์กับท่านปทีป” พล.ต.ท.เอก กล่าว

พล.ต.ท.เอก กล่าวต่อว่า ในวันศุกร์นี้จะเชิญมาพูดคุยและสอบสวนถึงกระบวนการแต่งตั้ง โดยก่อนการทำการแต่งตั้ง ทราบว่า พล.ต.ท.พีระ และ พล.ต.ท.วีระยุทธได้ตกลงกันแล้วว่า จะรับ พล.ต.อ.สมเพียร มาดำรงตำแหน่งใน สภ.กันตัง ตามที่ พล.ต.อ.สมเพียร ร้องขอ แต่ทำไมถึงไม่แต่งตั้ง มีเหตุผลใด โดยข้อตกลงเรื่องนี้หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้จะให้ ผบช.ภ.9 นำหนังสือดังกล่าวมาแสดงในที่ประชุมด้วย ส่วนเงื่อนไขการสับเปลี่ยนกำลังนั้นขึ้นกับ ผบช.9 ที่จะเสนอเงื่อนไข ซึ่งเรายังไม่ทราบว่าทาง ผบช.ภ 9 มีดุลพินิจในการสับเปลี่ยนกำลังกับ ศชต.อย่างไร

“หนังสือชี้แจงของ ผบช.ทั้งสองชี้แจงกันคนละประเด็น อย่าง บช.ภ.9 ก็ไปทาง แต่ไม่อยากลงรายละเอียด รอให้เขามาให้ถ้อยคำ ถ้าอยากได้ข้อเท็จจริงต้องถามดีกว่า ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือว่า ตกลงกันรับแล้ว แต่ทำไมไม่แต่งตั้งให้หรือแต่งตั้งแล้ว ทำไมรายชื่อถูกถอด ส่วนจะสามารถสาวไปถึงว่ามีนักการเมืองมาขอมา ก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า ผบช.ภ.9 จะพูดอย่างไร ก็อยากให้รอวันศุกร์” พล.ต.ท.เอกกล่าว

เมื่อถามว่าในวันศุกร์นี้จะสามารถทราบหรือไม่ว่าใครจะต้องรับผิดชอบหรือมีใครถูกใครผิด พล.ต.ท.เอกกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ แต่ในวันศุกร์จะสามารถชี้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และใครมีความบกพร่องตรงไหน

เมื่อถามต่อว่าหากนำกฎระเบียบมาพิจารณาอาจไม่มีคนผิด พล.ต.ท.เอกกล่าวว่า ขอให้ใจเย็น อย่าง บช.ภ.2 เราก็สามารถไปแก้ไขได้ แต่มีความแตกต่างกันที่ บช.ภ. 2 มีปัญหาขณะที่ คำสั่งยังไม่มีผล

เมื่อถามว่าก่อนหน้าที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษาสบ 10 เข้าไปพูดคุยและทำหนังสือกับ พล.ต.อ.ปทีป มาแล้ว พล.ต.ท.เอกกล่าวว่า ข้อเท็จจริงตรงนี้เราไม่มี เราจะตรวจสอบเฉพาะในประเด็นเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องจริงๆ แต่ตรงนี้ ผู้สื่อข่าวอาจรับทราบข้อมูลมาจากส่วนหนึ่ง เราจะดูถึงกระบวนการแต่งตั้งของ บช.ศชต.และ บช.ภ.9

“อดุลย์” มอบเงิน 3 แสนให้เมียสมเพียร
ขณะเดียวกัน นางพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ ภรรยาของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา พร้อมด้วย ส.ต.ท.โรจนินทร์ เอกสมญา บุตรชาย เข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา (สบ10) โดย พล.ต.ต.อำนาจ อันอาตย์งาม รอง ผบช.ภ.3 ได้นำเงินที่รวบรวมจากข้าราชการตำรวจ และครอบครัว บช.ภ.3 จำนวน 600,000 บาท มามอบให้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว พล.ต.อ.สมเพียร จำนวน 300,000 บาท และมอบให้ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจากเหตุการณ์เดียวกันอีกจำนวน 300,000 บาท

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จะช่วยดูแลเรื่องสวัสดิการที่ครอบครัว พล.ต.อ.สมเพียร ที่จะได้รับโดยจะเดินเรื่อง ส่วนใดที่ยังไม่เรียบร้อย ก็จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้

“ปทีป” เคยรับรู้เรื่อง “สมเพียร” ขอย้าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.อดุลย์เคยเข้าพบ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท. ผบ.ตร. เพื่อขอความช่วยเหลือการแต่งตั้งโยกย้าย พล.ต.อ.สมเพียร จริงหรือไม่ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวยอมรับว่าเคยเข้าพบ พล.ต.อ.ปทีป เพื่อช่วยเหลือแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่ง พล.ต.อ.ปทีป ก็รับทราบเรื่องดังกล่าวและจะช่วยเหลือ แต่ไม่ทราบว่าชื่อของ พล.ต.อ.สมเพียรจะขาดตกบกพร่องไปส่วนใดตนไม่ทราบเพราะไม่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นตนในฐานะผู้บังคับบัญชาก็พยายามดูแลแก้ไขอยู่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก

เมียสมเพียรไม่เชื่อคนร้ายมอบตัวเป็นมือฆ่า

ด้าน นางพิมพ์ชนากล่าวว่า ความรู้สึกของ พล.ต.อ.สมเพียร ที่ต้องการย้ายเพราะทราบว่า ผกก.กันตัง กำลังเกษียณ หลังจากที่ทำเรื่องขอโยกย้ายก็คิดว่า พล.ต.อ.สมเพียร จะได้รับการพิจารณาเพราะเหลืออายุราชการเพียง 1 ปี จนถึงขั้นเตรียมเก็บของเพื่อย้าย แต่หลังจากที่ พล.ต.อ.อดุลย์ โทรศัพท์มาบอกว่าไม่ได้ย้าย พล.ต.อ.สมเพียรรู้สึกผิดหวัง เพราะตั้งแต่รับราชการมาไม่เคยขออะไรเป็นพิเศษ คิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจึงมาร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจรุ่นหลังต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้อีก สำหรับตอนนี้อยากให้ ตร.ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของตำรวจ ให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่เหลียวมองการทำงานของตำรวจ ผู้น้อยบ้าง แม้งบประมาณที่ลงไปยังตำรวจใต้จะมีจำนวนมากแต่ตำรวจไม่ได้ต้องการเพียงแค่งบประมาณ แต่ต้องการสนใจดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัยจากผู้ใหญ่ด้วย

“ตอนนั้นแม้ต้องทำงานหนัก เราก็ไม่เคยอะไร เมื่อเห็นว่าเหลือปีกว่าก็จะเกษียณแล้ว ก็คิดว่าจะได้ อยากรู้ว่าชื่อไปตกหล่นตรงไหนตอนย้าย รอฟังคำชี้แจง ตร.อยู่ ทำไมบางตำแหน่งไม่ถึงหลักเกณฑ์ ยังโยกย้ายได้ ส่วนกรณีจับผู้ต้องหาฆ่าจ่าเพียร ตนไม่เชื่อว่าเป็นมือปืน ถ้าเป็นคนวางระเบิดน่าจะใช่ แต่ที่มามอบตัวไม่คิดว่าเป็นคนฆ่าจ่าเพียร เพราะคนที่ทำแบบนี้คงไม่มามอบตัวเอง” นางพิมพ์ชนากล่าว

ต่อมาเมื่อเวลา 15.30 น. พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 มอบเงินสดจำนวน 2 แสนบาทที่ได้จากการรวบรวมจากเพื่อนนักธุรกิจในนาม “กลุ่มเพื่อนแต้ม” ให้กับนางพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ ภรรยาของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หรือ “จ่าเพียรขาเหล็ก” อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆในครอบครัว

นางพิมพ์ชนากล่าวขอบคุณพร้อมระบุว่า รู้สึกตื่นต้นใจแทนสามีที่ยังมีคนเห็นคุณค่าแม้จะเสียชีวิตไปแล้ว ถึงแม้จะช้าไปหน่อยก็รู้สึกภาคภูมิใจ และขอให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ภาคใต้ตั้งใจทำงานทำหน้าที่ และให้ระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุด โดยให้นึกถึงเหตุการณ์ของสามีเป็นตัวอย่าง

“ฉันยังรู้สึกผิดหวังกับการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม และยังมองในเรื่องของผลประโยชน์เป็นหลักอยู่ เพราะหากสามีได้โยกย้ายในครั้งนั้นก็คงไม่ต้องมาเสียชีวิตแบบนี้” ภรรยาผู้สูญเสียสามีไปอย่างไม่มีวันกลับกล่าวด้วยสีหน้าสลด
Read more ...

“ปทีป” นั่งหัวโต๊ะ ถกสิทธิประโยชน์ตำรวจใต้

24/3/53
23 มีนาคม 2553 22:42 น.

“ปทีป” นั่งหัวโต๊ะ ถกสิทธิประโยชน์ตำรวจใต้ 10 ประการ เตรียมเชิญ ตัวแทนจาก บช.ศชต. ลงรายละเอียดและทำเป็นระเบียบ ต้นเดือนหน้า พร้อมเปิดใจครั้งแรกหลัง “จ่าเพียร” เสียชีวิต รับเสียใจมาก ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้ ที่ผ่านมาทำตามขั้นตอนกระบวนการแต่งตั้ง ไม่ฟันธงอนุ ก.ตร.จะสามารถหาคนผิดได้ ป้องไม่เคยเห็นนักการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งสักครั้ง แต่หากอนุ ก.ตร.พบมีนักการเมืองแทรกแซงก็ให้ อนุ ก.ตร.จัดการ

วันนี้ (23 มี.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ตร.) พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.เป็นประธานการประชุมเรื่องสิทธิประโยชน์ในภาพรวมของข้าราชการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.อ.ปทีปกล่าวว่า สิทธิประโยชน์ของตำรวจใน บช.ศชต. มีจำนวน 10ประการ โดยการประชุมวันนี้ได้มีการตีกรอบให้แล้วว่าอะไรควรให้ไม่ควรให้ ส่วนรายละเอียดเรื่องที่ว่าจะให้อย่างไรนั้น จะมีการประชุมย่อยกับตัวแทนของ บช.ศชต.อีกครั้งถึงรายละเอียดปลีกย่อยและมีการลงเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งออกเป็นกฎกติกาของ ตร.ได้ และจะมีการประชุมในต้นเดือนหน้า เช่นเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัย ซึ่งถ้าเป็นเม็ดเงินและ เทียบกับหน่วยอื่น ๆจะได้มากกว่า 15-19 เท่า ส่วนสิทธิอย่างอื่น เช่นสิทธิ์การสอบเป็นนายตำรวจก็มีแต้มต่อกว่าตำรวจคนอื่น

พล.ต.อ.ปทีปกล่าวต่อว่า ส่วนสิทธิที่จะทำ เช่น ระบบเรื่องการแต่งตั้งให้หมุนกันได้ โดยสามารถหมุนไปนอกหน่วยได้ โดยมี 2 นัยยะ คือ หมุนไปในตำแหน่งที่เท่าเดิมหรือไปเลือนตำแหน่งสูงขึ้น กรณีไปในตำแหน่งเท่าเดิม หรือ เลือนตำแหน่งสูงขึ้นก็ต้องมีตำแหน่งว่างในหน่วยนั้น หากหน่วยใดมีตำแหน่งว่างมากเราก็จะขอกันไว้ให้ ศชต.1 ตำแหน่ง ซึ่งเราจะพยายามดูในภาพรวมและให้หน่วยนั้นๆ มีสภาพคล่องได้พอสมควร ถ้าถามว่าจะต้องทำอย่างนี้ไหม ในแง่ของระเบียบกฎ ก.ตร.แล้ว เราบังคับไม่ได้ เป็นอำนาจของแต่ละ บช. แต่ถ้าเผื่อเป็นนโยบายและ ก.ตร.รับทราบแล้วเราก็บอกได้ว่านี่คือนโยบายแล้ว ขณะเดียวกัน ศชต.ย้ายออกนอกหน่วยได้หน่วยอื่นๆ ก็สามารถเข้ามายัง ศชต.ได้เช่นกัน แต่เงื่อนไขเดียวคือสมัครใจไปยัง 3 จังหวัดและไปเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น พร้อมเพิ่มอายุราชการทวีคูณ ซึ่งหลักการนี้ให้แต่จะให้อย่างไรนั้น คงต้องคุยกันในชุดย่อยอีกครั้ง รวมถึง ก.ตร.ด้วย

“เราตั้งคณะชุดย่อยขึ้นมาอีก โดยมีผู้แทนจาก ศชต. เป็นตัวแทนมาร่วมประชุมด้วย และนัดประชุมอีกครั้งในต้นเดือนหน้า เพื่อที่จะเป็นข้อตกลงเห็นชอบด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็จะออกเป็นกฎ กติกาเลย โดยส่วนหนึ่งให้ ก.ตร.รับทราบเพื่ออนุมัติ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นระเบียบของ ตร.” พล.ต.อ.ปทีป กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการร้องทุกข์ของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งหลังจาก พล.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิต พล.ต.อ.ปทีปเปิดเผยเรื่องนี้เป็นครั้งแรกว่า เรื่องของ พล.ต.อ.สมเพียร ขอแยกเป็น 2 ประเด็น คือ เรื่องการแต่งตั้งครั้งที่ผ่านมาและเรื่องการร้องทุกข์ ซึ่งอนุ ก.ตร.ร้องทุกข์ได้ดำเนินการอยู่ คงต้องรอผลการตรวจสอบไปวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นคงไม่ดี ส่วนเรื่องที่ พล.ต.อ.สมเพียรได้เดินทางมายื่นหนังสือการร้องทุกข์ ตนไม่ได้ทราบเรื่องตรงนี้ คงมาตามสายงานเมื่อเข้าสู่การร้องทุกข์ก็คือมาที่อนุฯ ร้องทุกข์ ส่วนก่อนแต่งตั้งก็เป็นอำนาจของแต่ละ บช.ก็ไปว่ากัน

เมื่อถามว่า การดำเนินการของอนุฯร้องทุกข์นั้น หากพบว่าทุกอย่างทำตามระเบียบ กฎ ก.ตร. แล้วอาจไม่มีผู้บกพร่อง พล.ต.อ.ปทีปกล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องที่อนุฯร้องทุกข์พิจารณาไป เราไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูอีก ซักต่อว่าจะสามารถหาคนผิดได้หรือไม่ พล.ต.อ.ปทีปกล่าวว่า ตรงนี้ขอให้ อนุ ก.ตร.พิจารณาก่อน ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนคงตอบไม่ได้

ถามว่า นอกจากการแต่งตั้งโยกย้ายแล้วสามารถให้ พล.ต.อ.สมเพียรมาช่วยราชการได้หรือไม่ พล.ต.อ.ปทีปกล่าวว่า การดึงมาช่วยราชการมันจะมีปัญหาพอสมควร อย่างตนเคยถูกร้องเรียนเรื่องนี้มาแล้ว

การช่วยเหลือ พล.ต.อ.สมเพียร สามารถให้ พ.ร.บ.ตำรวจ ม.56 ได้หรือไม่ พล.ต.อ.ปทีป กล่าวว่า ตามระเบียบแล้ว ตนสามารถใช้ ม.56 ได้ในแงjของกระบวนการแต่งตั้งไม่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถใช้ ม.56 เพื่อดึงอำนาจการแต่งตั้งมาที่ตนได้ ที่ผ่านมา ม. 56 มี 2 นัยยะ คือ ดึงอำนาจของ บช. มาให้ ตร. หรือตนเป็นผู้ทำการแต่งตั้ง และกรณีที 2 เห็นว่า ทางฝั่งไหนไม่ชอบธรรมก็จะใช้อำนาจนี้ไปแก้ ส่วน ม.56 ที่ตนใช้คือ ตั้งชุดของ พล.ต.ท.เอก อังสนานนท์ ผช.ผบ.ตร. เป็นประธานคณะกรรมการดูกระบวนการแต่งตั้ง ว่า บช.ใด ไม่ถูกต้อง ถ้าเผื่อไม่ถูกต้อง ตนก็ใช้ ม.56ไปแก้ไข ส่วนการพิจารณาตัวคนมันไม่ใช่กระบวนการแต่งตั้ง

“ถ้าหากผมใช้มาตรา 56 มาทำบัญชีเอง ผมคงจะรู้เรื่อง พล.ต.อ.สมเพียร ยอมรับว่าเสียใจมากกัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะต้องเร่งรัดเรื่องสิทธิประโยชน์ให้จบก่อนที่ผมจะเกษียณอายุราชการ” พล.ต.อ.ปทีป กล่าว

เมื่อถามว่า กระบวนการแต่งตั้งจะสามารถตอบปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่มีคุณธรรมได้หรือไม่ พล.ต.อ.ปทีปกล่าวว่า จะตอบคำถามคุณธรรม จริยธรรมได้หรือไม่ ก็ให้เป็นเรื่องของ อนุฯร้องทุกข์ ที่กำลังพิจารณาอยู่ ส่วนที่มีช่าวออกมาการแต่งตั้งแต่ละครั้งมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงนั้น ยืนยันว่าการเมืองไม่ได้มาแทรกแซงที่ตน แต่ไปแทรกแซงตรงไหนนั้นตนไม่ทราบ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะบอกกับสังคมอย่างไรกับกรณีการเสียชีวิต พล.ต.อ.สมเพียร พล.ต.อ.ปทีป กล่าวว่า เราพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น จากนี้ก็ให้อนุฯร้องทุกข์พิจารณาในประเด็นที่สังคมติดใจ เราคงบังคับอะไรอนุฯร้องทุกข์ไม่ได้หากจะพบว่าไม่มีคนผิด หรือหากหากพบว่า มีการเมืองหรือนายตำรวจคนใดเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็ต้องให้อนุฯร้องทุกข์ดำเนินการต่อไป
Read more ...

ถกหาผู้รับผิดย้าย “สมเพียร” ไม่เป็นธรรมยังไร้ข้อสรุป

24/3/53

23 มีนาคม 2553 16:06 น


โฆษก ตร.เผยเอกสารคำชี้แจงจาก บช.ภ.9 และ บช.ศชต.ยังไม่ชัด เพราะเอกสารไม่ครบ อนุ ก.ตร.เรียก ผบช.ภ.9 และ ผบช.ศชต.ให้มาแจงด้วยตัวเอง 30 มี.ค. กรณีคำร้อง 

“พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา” 

ไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่งตั้งโยกย้าย ระบุยังไม่ได้ข้อสรุปคนรับผิดชอบ ยันไม่พบมีข้อมูลการเมืองแทรกแซง

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 

พล.ต.ท.อำนวย ดิษฐกวี ประธานอนุ ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์

 ประชุมพิจารณาข้อร้องเรียนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา โดยใช้เวลาในการประชุม 45 นาที

ภายหลังการประชุม พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะโฆษก ตร.กล่าวว่า การประชุมวันนี้ที่ประชุมได้หยิบยกคำร้องของ พล.ต.อ.สมเพียร ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายมาพิจารณา โดยได้พิจารณาจากจดหมายร้องทุกข์ และประเด็นอื่น เช่น เอกสารคำชี้แจงของ 



พล.ต.ท.วีระยุทธ สิทธิมาลิก ผบช.ภ.9 และ


พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผบช.ศชต. 


โดยอนุ ก.ตร. มีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น คือ 


ประเด็นแรก ดูการแต่งตั้งของ บช.ภ.9 และ บช.ศชต. เป็นไปตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง และบันทึกสั่งการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ ส่วน


ประเด็นที่ 2 พิจารณาว่ามีข้อบกพร่องในการแต่งตั้งหรือไม่ และหากมีใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง

พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการ ก.ตร.ได้พิจารณาประเด็นทั้ง 2 อย่างกว้างขวาง จากพิจารณาเอกสารคำชี้แจงของ บช.ภ.9 และ บช.ศชต. ยังไม่สามารถสรุปประเด็นนี้ได้ เนื่องจากเอกสารยังไม่ครบต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงสั่งการให้ทางเลขานุการ อนุ ก.ตร. ทำหนังสือเชิญ ผบช.ภ.9 และ ผบช.ศชต.มาชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการด้วยตนเองในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 13.30 น. คาดว่าในวันดังกล่าวน่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ส่วนเอกสารที่พิจารณาในวันนี้มีเอกสารการแต่งตั้งของ บช.ภ.9 และบช.ศชต. และบันทึกการประชุมการแต่งตั้งทั้ง 2 บช. ที่เสนอมายัง ตร. อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบชัดเจนว่าบกพร่องตรงไหน เพื่อดูแลแก้ไขให้การแต่งตั้งครั้งต่อไปเกิดความเป็นธรรม หากพบข้อบกพร่องต้องเยียวยาว่าจะทำอย่างไร แม้ พล.ต.อ.สมเพียร จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นการจุดประกายให้การแต่งตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความเป็นธรรม โดยขั้นตอนต่อไปหลังจากที่ได้ข้อสรุปจากคณะอนุ ก.ตร. จะเสนอให้ ก.ตร.พิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามเรื่อง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.ต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ และไม่ได้มีการเชิญ พล.ต.อ.ปทีป มาชี้แจง

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงเรื่องการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งหรือไม่ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ตามเอกสารที่ปรากฎยังไม่มีข้อมูลเรื่องการเมืองแทรกแซง และไม่ทราบการที่คณะ อนุกรรมการ ก.ตร. เรียก ผบช.ภ.9 และ ผบช.ศชต.มาชี้แจงจะถามในประเด็นนี้หรือไม่ วันนี้ยังไม่มีการคุยในประเด็นนี้ และไม่ใช่การปกป้องนักการเมือง ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามเอกสารที่ได้รับมาคิดว่าคณะอนุกรรมการ ก.ตร. ตระหนักว่าสังคม ประชาชนหวังอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อจะสามารถตอบคำถามให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม กลุ่มหนึ่งใส่เสื้อยืด พิมพ์ลายที่หน้าอก เป็นกรอบ 4 เหลี่ยม สีดำเขียนข้อความว่า “จ่าเพียร 12 มี.ค. 53” ซึ่งเป็นวันที่ พล.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่นายตำรวจคนดังกล่าว ในการพิจารณาหาผู้บกพร่องในการแต่งตั้งโยกย้าย พ.ต.อ.สมเพียร และการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้
Read more ...

'วรเจตน์' วิพากษ์กฎหมาย ปปช. : มุ่งพิฆาต ไม่คำนึงสิทธ์ เตือนนายกฯไม่ฟัง ก.ตร.อาจถูกฟ้อง

18/3/53
ที่มา เวบไซต์ มติชนออนไลน์


24 มกราคม 2553

กรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. มีมติยกโทษให้ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภารดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พ้นผิดกรณีม็อบสีเหลืองปะทะม็อบสีแดงที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ และให้พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พ้นผิดจากกรณีสลายการชุมนุมของม็อบเสื้อเหลือง ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551

หลังจาก "3นายพลสีกากี" ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูล "ผิดวินัยร้ายแรง" จนถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) มีคำสั่งปลดออกจากราชการ

ก.ตร.มีมติสำทับล่าสุดเมื่อวันที่ วันที่ 15 มกราคม ให้ "อุทธรณ์ฟังขึ้น" และข้อขัดแย้งด้านกฎหมายให้นายกรัฐมนตรี นำเข้าคณะรัฐมนตรี ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่จนวันนี้ ต่างฝ่ายต่างงัดคำตีความกฎหมายจากหลายสถาบัน อาทิ คณะกรรมการกฤษีกา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มาโต้แย้งกัน

ตลอดกว่าสัปดาห์ที่ผ่าน เรื่องนี้ยังดูห่างไกลข้อยุติ ขณะที่นัยยะหลักของ "นายกฯอภิสิทธิ์" สื่อไปในทางที่ว่า ก.ตร.ไม่มีสิทธิ์ อุทธรณ์ กลับคำลงโทษหนักของ ป.ป.ช. โดยเด็ดขาด?!

"มติชน" สัมภาษณ์พิเศษ "ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เห็น มุมมองทางกฎหมายที่น่าสนใจ

ดร.วรเจตน์ เปิดฉากว่า เรื่องนี้ดำเนินไปตาม พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

ประเด็น คือว่า คนที่ถูกลงโทษทางวินัย โดยปกติก็มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามมาตรา 96 ของกฎหมายป.ป.ช. "ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วย การบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ ต้องใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ"

ซึ่งมาตรานี้ เป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน เพราะว่ากฎหมายป.ป.ช.ไปเชื่อมกับตัวกฎหมายของข้าราชการแต่ละหน่วยว่า เมื่อเขาถูกลงโทษตามสำนวนของ ป.ป.ช.คนที่ถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์ ตามกฎหมายของเขา กรณีนี้เป็นตำรวจก็อุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

ปัญหา คือ ก.ตร.สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงฐานความผิด หรือไม่เห็นด้วย กับการชี้มูลของ ป.ป.ช. หรือจะเห็นว่าสิ่งที่ป.ป.ช.ดำเนินการสอบมา ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่ จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีปัญหา เถียงกันมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ถูกชี้มูลว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรง จนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีลงโทษไล่ออก จึงไปอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่ง ก.พ.เห็นว่า บกพร่องเล็กน้อย เป็นวินัยไม่ร้ายแรง จึงเปลี่ยนจากโทษไล่ออกเป็นภาคทัณฑ์

ครั้งนั้น ป.ป.ช. เห็นว่า ก.พ.ทำไม่ถูก มาล่วงอำนาจ ป.ป.ช.ไปเปลี่ยนโทษความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้ ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ออกมาว่า ม.96 ของพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 บอกว่า ให้อุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ เท่ากับว่า องค์กรที่พิจารณาอุทธรณ์ มีอำนาจในการพิจารณาการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชา ในฐานความผิดเดิมที่ ป.ป.ช.มีมติเท่านั้น ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ไปกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ เปลี่ยนฐานความผิดที่กำหนดโทษใหม่ได้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ก.พ.ในฐานะองค์กรที่พิจารณาอุทธรณ์ ต้องผูกพันตามสำนวนของ ป.ป.ช ซึ่งหากเทียบเคียงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้กับ ก.ตร.แล้ว ผลจะเป็นว่า ก.ตร.จะไปเปลี่ยนแปลงฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไม่ได้

"แต่มาวันนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีกไปแล้ว แต่ยังเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งครั้งนั้นก็มีการถกเถียงกันในวงการนิติศาสตร์ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้"

มาดูกันที่ บทบัญญัติ ม. 96 จากถ้อยคำและเจตนาของคนร่างกฎหมายนี้ เป็นไปได้ที่ผู้ร่าง ไม่ต้องการให้อุทธรณ์ฐานความผิด อุทธรณ์ข้อเท็จจริงก็อุทธรณ์ได้ เพียงดุลพินิจการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชา มันเป็นไปได้ที่มองแบบนี้ เพราะว่า คนเขียนอาจจะบอกว่า เขาต้องการให้เป็นแบบนี้ เพื่อว่าคนถูกลงโทษจะไม่ได้ไปวิ่งเต้นกับหน่วยงานของตน เลยบังคับให้ผูกพันตามสำนวนของ ปป.ช.ไป แต่ผมมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง

คือ เรื่องนี้ ถ้ามองจากตัวระบบกฎหมาย และมองที่วัตถุประสงค์ของการที่จะให้มีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ เราจะพบว่า การตีความตาม ม. 96 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ได้ตีความไว้ และความเห็นของนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่เห็นไปทางนั้น เราจะเห็นว่า มันทำให้กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ไร้ความหมาย !!

ยกตัวอย่างกรณี ก.ตร. เห็นภาพชัดว่า 3 นายพล ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษปลดออก การอุทธรณ์ขึ้นไป ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะเท่ากับว่า เมื่ออุทธรณ์ไป ก.ตร.ก็ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากต้องผูกพันตามเดิม คือ ทำได้แค่ลงโทษปลดออกตามเดิม หรือ ลงโทษเขาหนักกว่าเดิม คือไล่ออก ซึ่งมันไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของการมีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์บรรลุผลในทางกฎหมาย

"ผมมองว่า การตีความกฎหมาย ต้องตีความในแง่ของการทำให้ตัววัตถุประสงค์ของกระบวนพิจารณาอุทธรณ์บรรลุผล ไม่ใช่ตีความในการทำลายวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ นี่เป็นความเห็นผม"

ตามมาตรา 96 ที่เขียนว่า ใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการลงโทษ ซึ่งอยู่ที่การตีความ ดังนั้นจะตีความไปที่เจตนาของคนทำกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูจากระบบกฎหมายด้วย หากตีความแบบที่ว่ากัน มันทำลายวัตถุประสงค์ของตัวกฎหมาย ทำให้การอุทธรณ์ไม่มีความหมาย แล้วจะไปเรียกร้องให้เขาอุทธรณ์ทำไม ในเมื่ออุทธรณ์ไปแล้วคนที่พิจารณาอุทธรณ์ทำอะไรไม่ได้

ฉะนั้นต้องตีความว่า คณะกรรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีอำนาจอุทธรณ์ตามกฎหมายเฉพาะ โดยพิจารณาคำสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามสำนวนของ ป.ป.ช. ซึ่งเท่ากับว่า อำนาจของ ป.ป.ช.ผูกพันถึงผู้บังคับบัญชาเท่านั้น แต่ไม่ผูกพันถึงคณะกรรมการอุทธรณ์

**** อำนาจของป.ป.ช.จบลงแล้ว เพราะถือว่า ได้สั่งให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษแล้ว และมีการลงโทษปลดออก

ดร.วรเจตน์ ย้ำว่า ใช่ อำนาจของ ป.ป.ช.จบลง เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษไปแล้ว ตามมาตรา 93 สั่งลงโทษตามคำสั่ง ป.ป.ช.ไปแล้วจบลงเท่านี้ ที่เหลือเป็นสิทธิ์ของข้าราชการที่จะอุทธรณ์ ซึ่งในการตีความ ม. 96 ต้องตีความให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในเรื่องของสิทธิของบุคคล คือ การตีความในแง่ที่ไปบีบดุลยพินิจของการพิจารณาอุทธรณ์ มันเป็นการตีความแบบจำกัดสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการทบทวนในทางปกครอง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการตีความแบบนี้

"จะบอกว่าสำนวนของ ป.ป.ช.นั้นเด็ดขาด และประสบความสำเร็จแล้วเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ แต่ตอนนี้ มันเป็นชั้นอุทธรณ์แล้ว ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะดำเนินการตามกฎหมายตำรวจ และ ก.ตร.เห็นว่า สำนวนการสอบสวนที่ ป.ป.ช.ทำมาผิด จะไปให้ ก.ตร. ยืนตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงโทษได้อย่างไร"

อำนาจ ป.ป.ช.จบลงแล้ว เมื่อผู้บังคับบัญชา (นายกรัฐมนตรี) สั่งลงโทษ ในทางกลับกัน คนที่เป็นกรรมการอุทธรณ์อาจตั้งคำถามได้ว่า "ถ้าไม่ให้มาดูข้อเท็จจริง แล้วจะให้อุทธรณ์มาทำไม อุทธรณ์มาแล้ว บอกว่าทำอะไรไม่ได้ แต่ต้องทำตามสำนวนของ ป.ป.ช. ทั้งที่เห็นว่าไม่มีความผิด"

"อย่างผมเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า สำนวนของ ป.ป.ช.ทำผิดขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด รับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ถามว่าจะบังคับดุลพินิจของ ก.ตร.ได้หรือว่า ต้องไปผูกพันตามข้อเท็จจริงที่มันผิดๆ ของ ป.ป.ช ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง เท่ากับว่าไปบังคับให้เขาใช้ดุลพินิจที่ผิด เพราะว่าข้อเท็จจริงมันไม่ใช่"

ดร.วรเจตน์ตั้งคำถามว่า ถ้าจะบอกว่า เขาไม่มีสิทธิไปดูข้อเท็จจริง ไม่มีสิทธิ์ดูข้อกฎหมาย ดูได้แต่อัตราโทษได้อย่างเดียว กรณีอย่างนี้ จะดูอะไรได้ในเมื่อโทษมันมีแค่ปลดออกกับไล่ออก อย่างนี้ก็ไม่ต้องอุทธรณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญของ ป.ป.ช.เลย เพราะกรณีนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้ใช้อำนาจใดตามรัฐธรรมนูญ บทบาทของ ป.ป.ช.ในกรณีนี้ เปรียบเสมือนคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยเท่านั้นเอง กฎหมายถือว่า สำนวน ป.ป.ช.คือสำนวนการสอบสวนทางวินัยของหน่วยงาน เพียงแต่ชี้ว่า เมื่อผลออกมาบังคับผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ ตามที่ ป.ป.ช. ชี้มาเท่านั้น

มีการตั้งคำถามเท่ากับว่าให้คณะกรรมการอุทธรณ์ มารีวิวสำนวน ป.ป.ช.ได้ ซึ่งทำได้เพราะกฎหมายออกแบบให้ ป.ป.ช.เป็นคนสอบในชั้นต้น ดังนั้นเมื่ออุทธรณ์ โดยระบบปกติ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ต้องลงมาดู กรณีฟ้องศาลปกครองศาล ก็ต้องลงมาดูข้อเท็จจริงทั้งหมดเหมือนกัน

**** มีการตีความว่ากฎหมาย ป.ป.ช.มีศักดิ์ เหนือกว่า กฎหมายตำรวจ

ดร.วรเจตน์- มีศักดิ์เหนือกว่าแล้วมันยังไง? ศักดิ์เหนือกว่า แต่กฎหมายของคุณจบลงแล้วตั้งแต่บังคับผู้บังคับบัญชาให้ทำตาม จบไปตามนั้น ตอนนี้ไม่เกี่ยวกับ ป.ป.ช.แล้ว ม.96 ที่ว่า ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ดุลพินิจมันก็ขึ้นอยู่กับการตีความ ซึ่ง ก.ตร.ตีความว่า กรณีแบบนี้เท่ากับ ก.ตร.ดูข้อเท็จจริงได้ มันเป็นการตีความตาม ม.96 ประกอบกับกฎหมายของตำรวจ หากกฎหมายของหน่วยงานเขายังใช้ได้อยู่ มันเป็นไปไม่ได้ที่สำนวน ป.ป.ช.จะไปมัดดุลพินิจของคณะกรรมการอุทธรณ์

"เขาอึดอัดตาย ถ้าเขาต้องพิจารณาลงโทษตามข้อเท็จจริงที่เขาก็รู้ว่ามันผิด มันจะเป็นไปได้อย่างไร"

"ผมว่า เจตนารมณ์ของตัวกฎหมาย มันออกแบบประหลาดอยู่ ฉะนั้นการตีความต้องรับกับระบบ แต่นักกฎหมายหรือศาลไปตีความว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรตาม รธน. แต่ไม่ได้ดูว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นองค์กรตาม รธน. แต่เป็นเรื่องที่เขาใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ได้เป็นเครื่องประกันด้วยว่า ที่ ป.ป.ช.ชี้มามันถูก"

ดร.วรเจตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อนายกฯ บอกว่า ต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระ ไม่พอใจให้ไปฟ้องศาลปกครอง เรื่องนี้ลืมไปประเด็นหนึ่ง ไม่ใช่เห็นว่า ใครไม่เห็นด้วยให้ไปฟ้องศาล แต่ว่ากลไกเรื่องการให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการ มันมีในระบบต้องตีความให้มันใช้ได้โดยสมบูรณ์ ไม่อย่างงั้น ถ้า ป.ป.ช.ชี้ความผิดมัดทั้งผู้บัญชาการ มัดทั้งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ จะเป็นไปได้อย่างไรในทางระบบ แล้วจะมีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ทำไม เพื่ออะไร หากอุทธรณ์ไปทำได้เพียงปลดออก หรือไล่ออก

**** เหมือนป.ป.ช.ไม่ศักด์สิทธิแล้วเจตนารมณ์ของคนเขียนกฎหมายเพื่อป้องกันการวิ่งเต้นในหน่วยงานต้นสังกัด

ดร.วรเจตน์ ย้อนว่า แล้ววิ่งเต้นที่ ป.ป.ช.ไม่ได้ตั้งแต่แรกหรืออย่างไร หากวิ่งตั้งแต่ ป.ป.ช. เรื่องที่ผิดอาจจะไม่ถูกชี้มูลตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป ตอนนี้กลายเป็นว่า ต้องไปไว้ใจองค์กรอิสระ แล้วคนที่เป็น ก.ตร. ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิข้างนอกเข้ามาร่วมไม่ด้อยกว่า ป.ป.ช.

"ตอนนี้เป็นการวัดศักดิ์ศรีกันแล้ว ผมว่าต่อไปข้างหน้าจะมีปัญหานี้อีก หาก ป.ป.ช.ทำสำนวนมาแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อ่านแล้วไม่เห็นด้วย เพราะรับไม่ได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นอีกต่อไปต้องมีกฎหมายที่ชัดเจน"

ในความเห็นของ ดร.วรเจตน์ บอกว่า คำสั่ง ก.ตร.ที่ว่า อุทธรณ์ฟังขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำตามที่ ก.ตร.มีมติ โดย ก.ตร.เอง จะเป็นผู้รับผิดชอบกับมติที่ให้อุทธรณ์ฟังขึ้นจากการตีความกฎหมาย จึงต้องไปดูความเห็นในการตีความ เมื่อ ก.ตร.มีมติแล้วต้องทำตาม นายกฯในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องผูกพันตามมติ ก.ตร.ด้วยเช่นกัน

**** เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเป็นคนกล่าวโทษกรณี 7 ตุลากับพล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ

ดร.วรเจตน์ บอกว่า นี่ก็เป็นปัญหายุ่งอีก กลายเป็นเรื่องมีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ตามเมื่อ ก.ตร.มีมติแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตาม หรือว่านายกฯจะฝืนมติ เพราะมติ ก.ตร.ถือว่า สมบูรณ์ตามกฎหมายตำรวจ ถ้ามีใครอ้างว่ามติ ก.ตร.ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องหาสิทธิ์ไปฟ้องคดีเอง ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องไปหาช่องฟ้องเอง เพราะ ก.ตร.ตีความอำนาจ

"ถ้าผมเป็น ก.ตร.ผมก็ตีความอำนาจอย่างนี้ และผมเห็นอย่างนี้โดยบริสุทธิ์ เพราะผมอ่าน ม. 96 แล้ว ดูจากระบบกฎหมายแล้ว ดูจากวัตถุประสงค์ของการมีกระบวนพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ดูจากสำนวน ป.ป.ช.แล้ว ผมตีความว่า ผมมีอำนาจในการพิจารณา เพราะผมใช้กฎหมายตำรวจ "

ตอนนี้ต้องดูนายกรัฐมนตรี กับ รรท.ผบ.ตร. ถ้าไม่ทำตามเขา อาจจะถูกฟ้อง หากไม่รับกลับเข้ารับราชการ 3 นายพล อาจฟ้องศาลอาญาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามมติ ก.ตร. นายกฯต้องคุยกับ ก.ตร.ว่าจะเอาอย่างไร

"แต่ผมว่า คงคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะตั้ง ผบ.ตร.ยังตั้งไม่ได้เลย หาก ก.ตร.จะกลับมติ ผมเห็นว่านี้เป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ และไม่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย"

พลังของกฎหมาย ป.ป.ช. มันจบตั้งแต่มีผลให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัย เคยมีบางยุคตีความว่า กฎหมาย ป.ป.ช. ผูกพันไปถึงศาลด้วย ป.ป.ช.จึงกลายเป็นองค์กรที่ชี้ตูมเดียว ผูกพันกับชาวบ้านทั้งหมด แล้วทำไมเราไม่คิดในทางกลับกันว่า หาก ป.ป.ช.ชี้ผิด แล้วโทษเป็นเพียงวินัยไม่ร้ายแรง แล้วจะทำอย่างไร จะบังคับให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ถือตาม ป.ป.ช.ได้อย่างไร ถ้ากฎหมายมันไม่ชัด

ดร.วรเจตน์ บอกว่า เรื่องนี้มาอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องกฎหมายขัดกัน แต่เป็นเรื่องที่เขาใช้กฎหมายของเขา ซึ่งกฎหมายของ ป.ป.ช.ได้ใช้แล้วในการสั่งปลดออกต้องพอใจเท่านั้น จะไปคอยตามดูให้กลายเป็นสำนวนของข้าพเจ้าใครจะแก้ไม่ได้ ถามว่า เราจะให้อำนาจ ป.ป.ช.แบบนั้นหรือ

"ป.ป.ช.วิ่งไม่ได้หรือไง หรือจะบอกว่าเป็นอรหันต์กันหมด เป็นไปไม่ได้หรอก ผมไม่เชื่อหรอก มันต้องว่ากันตามระบบ"

ดร.วรเจตน์ ย้ำอีกว่า ก.ตร.มีอำนาจ ป.ป.ช.บังคับให้เขาทำตามสำนวนคุณไม่ได้ สมมุติสำนวนทำมาไม่ได้เรื่อง จะไปผูกพันได้อย่างไร เหมือนกรณี "โอ๋ สืบ 6" ที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จากนั้นจึงไปฟ้องศาลปกครอง แล้วศาลพิจารณาว่า ป.ป.ช.ไม่ฟังข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน จน ป.ป.ช.ถูกฟ้องกลับคดีอาญา

"กฎหมาย ป.ป.ช.คิดขึ้นมา มุ่งจะปราบอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงสิทธิ์ของคนอื่นเขา มันไม่ได้ เรื่องอำนาจพวกนี้ อย่าปล่อยให้เกิดขึ้นอีก ต้องแก้กฎหมายเลย แล้วพูดให้ชัด คุยให้ชัด ทำกฎหมาย อย่าคิดว่า วิ่งกับองค์กรอื่น คือทุกคนถูกวิ่งได้หมด ถ้ามันจะวิ่ง แล้วมันต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบเป็นตัวตั้ง กฎหมาย ป.ป.ช.มุ่งจะจัดการกับราชการ จนเขียนกฎหมายผิดระบบไปหมด ดูอย่าง ม.96 เขียนมาได้ "ต้องใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ" เขียนอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะคำว่า มีคำสั่งลงโทษ หมายถึงวันที่เซ็นคำสั่ง แล้วคำสั่งยังไม่ถึงคนรับคำสั่งเลย ผมว่า ม.96 นี้ มันเขียนไม่ดี เขียนโดยทัศนคติต่อข้าราชการในทางลบกันมาก "

"มาตรา 96 นี้ เขียนไม่ได้ความเลย เขียนแบบจ้องเล่นงานข้าราชการเป็นหลัก เขียนจนหลุด ผมเห็นว่า ระบบต้องสำคัญกว่า การตีความต้องรักษาระบบไว้ ไม่ใช่เรื่องหลักการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระ นายกฯท่านเข้าใจผิดแล้วเรื่องนี้ "

นายกฯ ต้องเห็นว่า บทบาทตัวเองขัดแย้งกัน เพราะตัวเองไปกล่าวหาเขาต่อ ป.ป.ช.ตั้งแต่แรก จริงๆ ต้องมอบเรื่องนี้ให้คนอื่นทำ เอาเรื่องเข้า ครม.แล้วให้รองนายกฯคนอื่นสั่งลงโทษตั้งแต่แรก เพราะตัวเองเกี่ยวพันในทางส่วนตัวในฐานะคนร้อง

"เรื่องนี้จะเห็นว่า การเป็นฝักฝ่ายการเมือง ส่งผลรุนแรงอย่างไรกับระบบกฎหมาย มันกลายเป็นว่า ตอนนี้ใครมีอำนาจก็จะชี้อย่างไรก็ได้อย่างที่ตัวเองอยาก มันเป็นอย่างนั้นไปหมด" ดร.วรเจตน์กล่าวทิ้งท้าย
Read more ...

ตร.สุดเสียใจสำนึกผิดกับการสูญเสีย "ผกก.สมเพียร" ยกวีรบุรุษ

14/3/53

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม 13 มีนาคม 2553 19:23 น.

ทีมโฆษก.ตร.แท๊กทีมแถลงแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ

"พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา"

รับสุดเสียดายที่เยียวยาไม่ทัน และเป็นเรื่องที่สะเทือนใจทุกคน ชี้ เรื่องนี้ ใครทำผิดเมื่ออนุก.ตร.ตรวจสอบต้องมีคนรับผิดชอบ ย้ำ ตร.สำนึกผิดแล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราสำนึกผิดแล้วจริง ๆ ยกเป็นวีรบุรุษในดวงใจตำรวจ

วันนี้ (13 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)

พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกตร.

พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ รองผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโยลีสารสนเทศและการสื่อสาร

พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผู้บังคับอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะรองโฆษก ตร.

พล.ต.ต.โชติกร สีมันตร ผู้บังคับการกองทะเบียนพล

พล.ต.ต.วรวิทย์ ลิปิพันธ์ ผู้บังคับการกองสวัสดิการ

แถลงข่าวถึงกรณีการเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับการสถ.บันนังสตา จ.ยะลา หลังจากเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รรท.ผบ.ตร.) จากกรณีขอย้ายจาก สภ.บันนังสตา ไปยังสภ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อขอพักจากการทำหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนเกษียณอายุราชการในปี 2554 แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณา

พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าในนามรัฐบาลขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพ.ต.อ.สมเพียร และสั่งการให้ตร.ดูแลเรื่องต่างๆให้ดีที่สุด โดยเฉพาะภรรยาและบุตรอีก 4 คน ที่อยู่เบื้องหลัง มีส.ต.ท.โรจนิล หรือ วัฒนพงษ์ เอกสมญา สังกัดตำรวจตระเวนชายแดนจ.ยะลา สำหรับ อีก 3 คน คนหนึ่งจะรับเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจสืบต่อจากบิดาต่อไป ซึ่งประเด็นหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีห่วง คือกรณีที่ พ.ต.อ.สมเพียร มาร้องทุกข์ ต่อนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งโยกย้ายหลังจากพ.ต.อ.สมเพียร รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ตร.เยียวยาให้เร็วที่สุด

“ เรื่องนี้ รรท.ผบ.ตร.และข้าราชการตำรวจทุกคนในตร. แน่นอนว่าต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง สำหรับพี่สมเพียรและครอบครัว ที่ต้องสูญเสียข้าราชการตำรวจดีเด่นอีกคนหนึ่งไป ในระยะเวลาที่เราไม่คาดคิด ซึ่งเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งของตร. สำหรับตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เสียสละ อุทิศตนอย่าเต็มที่ แล้วต้องมาเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง ก็ถือว่าเป็นวีรบุรุษที่เราจะจดจำไว้หัวใจ สำหรับข้าราชการตำรวจกว่า 240,000 คนคนทั่วประเทศ สำหรับวันนี้จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดย รรท.ผบ.ตร.มอบให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา(สบ10) ไปเป็นประธาน

จากนั้น ในช่วงบ่ายจะเคลื่อนศพมาที่วัดคลองเปล ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยผมจะเดินทางไปบ่ายนี้ คืนนี้นายกรัฐมนตรี และรรท.ผบ.ตร. จะร่วมเป็นเจ้าภาพ สวดอภิธรรมศพในเวลา 19.00 น. อยากเรียนว่าเรื่องนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อเกิดแล้วก็เป็นหน้าที่ของพวกเราที่อยู่ข้างหลังต้องคอยดูแลทุกสิ่งทุกอย่างตามกระบวนการ เหมือนเช่นที่เคยดำเนินการโดยจะทำให้ดีที่สุด ก็ไม่ต้องห่วง สำหรับความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่สะท้อนออกมาจำนวนมากที่เห็นอกเห็นใจและอยากให้ ตร.ดูแลให้ดีที่สุดและนำเรื่องต่างๆมาเป็นบทเรียน” พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าว

พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ตร.อยากชี้แจงเรื่องที่สังคมค้างคาใจ เรื่องที่พ.ต.อ.สมเพียร ร้องเรียน นั้นได้ดำเนินการแล้ว อยากชี้แจงถึงเหตุที่ทำให้ พ.ต.อ.สมเพียร ต้องบากหน้ามาร้องเรียนกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ทั้งนี้เมื่อเรื่องมาถึงตร. เราก็ได้มีการพูดคุยกันตามที่ตนเคยแถลงไปเมื่อการประชุมก.ตร.ในวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งวันนั้น ก.ตร.พูดเรื่อง พ.ต.อ.สมเพียรกันเยอะ รวมทั้งเรื่องของตำรวจคนอื่นอีก 91 นายด้วย

ซึ่งกรณี พ.ต.อ.สมเพียร ก.ตร.มีมติให้ รรท.ผบ.ตร.กลับไปดำเนินการเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากพิจารณาเห็นว่าทำงานทุ่มเททำงานในพื้นที่ต่อเนื่องยาวนานและอีกปีกว่าก็จะเกษียณอายุราชการเจ้าตัวก็เพียงแต่ปรารถนาจะกลับไปอยู่กับครอบครัวในบั้นปลายชีวิตอย่างมีความสุขหลังจากตรากตรำทำงานมากว่า 40 ปี ซึ่ง รรท.ผบ.ตร.สั่งการสำนักงานกำลังพลไปพิจารณาดำเนินการ โดยมอบหมายให้พิจารณาพ.ต.อ.สมเพียร ขึ้นเป็นรองผบก. ภ.จว.ตรัง โดยจะเปิดตำแหน่งให้ใหม่ ซึ่งกระบวนการในการดำเนินการจะเข้าสู่การพิจารณาของก.ตร.ในครั้งต่อไป มตินี้เกิดขึ้นในก.ตร.วันที่ 5 แต่ยังไม่ทันประชุมก.ตร.ครั้งต่อไป พ.ต.อ.สมเพียรก็เสียชีวิตเสียก่อน

กำลังพล เผย เปิดตน.รองผบก. ตั้ง "สมเพียร"

ด้านผู้บังคับการกองทะเบียนพล ชี้แจงว่า หลังจากวันที่ 5 มีนาคม ที่ก.ตร.มีมติ ให้เยียวยา รรท.ผบ.ตร.ก็สั่งการมาที่ บก.ทพ อย่างเร่งด่วนให้รีบดำเนินการให้ พ.ต.อ.สมเพียร ซึ่ง บก.ทพ ดำเนินการเป็นขั้นตอน เริ่มจากตัดโอนตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ของสำนักงานกำลังพล 1 อัตรา ไปให้ จ.ตรัง แล้วนำเสนอต่อก.ตร.ในการปรับอัตรา ผบ.หมู่ เป็นอัตรา รองผบก. เพื่อรองรับการแต่งตั้ง พ.ต.อ.สมเพียร จากนั้นจะดำเนินการแต่งตั้งโดยต้องขอก.ตร.อนุมัติยกเว้นขึ้นข้ามหน่วย และขออนุมัติให้ขึ้นตำแหน่งรองผบก.ได้ ทั้งที่คุณสมบัติส่วนตัวของ พ.ต.อ.สมเพียร ยังไม่ครบ เนื่องจากดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปีเศษ ไม่ครอบ 4 ปี ซึ่งก.ตร.สามารถอนุมัติให้ได้ และต้องขอแต่งตั้งนอกวาระประจำปี ซึ่งบก.ทพ.ตั้งใจจะดำเนินการให้ทันในก.ตร.ครั้งถัดไปคาดว่าจะเป็นวันที่ 19 มีนาคม แต่น่าเสียใจ ตนเองก็ยังเสียใจจนถึงตอนนี้ ที่เราทำให้ พ.ต.อ.สมเพียรไม่ทัน ทั้งที่ผู้บังคับบัญชาสั่งมาแล้ว

ด้านผู้บังคับการกองสวัสดิการ กล่าวว่า ตร.พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษไม่เกิน 7 ขั้น เลื่อนชั้นยศเป็นกรณีพิเศษให้เป็น พล.ต.อ. และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย เงินทดแทนการเสียชีวิต 25 เท่าของเงินเดือน คิดเป็น 1,089,250 บาท ค่าจัดการศพ 20,000 บาท ตามสิทธิ์ ซึ่งตร.จะดำเนินการโดยด่วน

ขณะที่ ร.ต.ท.กิตติศักดิ์ โรมา รองสว.สส.สภ.บันนังสตา และตำรวจอีก 2 นายที่ได้รับบาดเจ็บ จะได้รับเงินเพิ่มการสู้รบ หรือ พ.ส.ร. ไม่เกิน 2 ขั้น เงินชดเชยการป่วยเจ็บรายวัน อัตรา 1/30 เท่า ของเงินเดือน กรณีรักษาในโรงพยาบาล และ 1 /60 เท่าของเงินเดือนกรณีพักฟื้นนอกโรงพยาบาล ตามคำสั่งแพทย์ สำหรับเงินสวัสดิการสงเคราะห์ นั้น ทายาทของ พ.ต.อ.สมเพียร จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 350,000 บาท และเงินกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ 200,000 บาท ส่วนที่บาดเจ็บได้เงินนี้รายละไม่เกิน 100,000 บาท

ขณะที่ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวต่อว่า ตนได้พูดคุยกับ นางพิมพ์ชนา หรือ ณิภาสินี เอกสมญา ภรรยาของพ.ต.อ.สมเพียร เมื่อเช้านี้ โดยนายพิมพ์ชนายังติดใจ เรื่องที่สามีอยากขอย้ายใช้ชีวิตบั้นปลายข้าราชการอย่างสงบสุข ซึ่งได้อธิบายท่านก็เข้าใจดี ฝากขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนที่ได้กรุณาสามี และช่วยในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่สังคม ว่า พ.ต.อ.สมเพียรได้ทำงานเสียสละอุทิศตนในพื้นที่อย่างไร สำหรับลูกชายที่เป็นตำรวจก็ยังมีกำลังใจดี ส่วนอีก 3 คน แม่ก็ยังไม่ตัดสินใจ ยังไม่คุยกันว่าคนไหนจะเป็นตำรวจสืบแทนพ่อ วันนี้หลังสวดอภิธรรมศพจะได้คุยกันว่าจำดำเนินการต่อไปอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมา ตร.ได้พิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้กับตำรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีชีวิตอยู่บ้างหรือไม่ ซึ่งพล.ต.ต.โชติกร กล่าวว่า บำเหน็จความชอบประจำปีเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาที่จะให้กับเจ้าตัวพิจารณาไปตามลำดับชั้น ส่วนบำเหน็จความชอบพิเศษ อยู่ในการพิจารณาของตร.ที่จะตั้งคณะกรรมขึ้นมาพิจารณาแล้วได้ขอ้ยุติแล้ว กำลังนำเข้า ก.ตร.เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ว่าการให้บำเหน็จต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรการบริหารงานบุคคล นั่นคือก.ตร. โดยที่ผ่านมายอมรับว่าไม่เคยมีการพิจารณาตอบแทนในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษเพื่อตอบแทน

ซึ่งการที่ตร.บอกว่าจะดูแลตำรวจในศชต.เป็นพิเศษ ไม่ใช่การหยอดคำหวาน เราดูแลกันอย่างจริงจัง แต่การดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายนั้นต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตร.ให้ความสำคัญ ตอบแทนความดีความชอบตาสิทธิมาตลอด แม้แต่โควตาการให้ขั้นเงินเดือนเพิ่ม 2 ขั้น ตร.ก็เอาโควต้าของส่วนกลางโปะให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด ให้เป็นกรณีพิเศษมาตลอด

ยัน แถลงข่าวชี้แจงไม่ได้แก้ตัว ชี้เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ

เมื่อถามว่าการออกมาแถลงข่าววันนี้เป็นการแก้ตัวเมื่อสายไปแล้วหรือไม่ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า เรื่องนี้ ความจริงตนจะชี้แจงตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็นแล้ว ได้พูดคุยกับสื่อมวลชน

“ได้รับโทรศัพท์จากสังคม จากประชาชนจำนวนมากที่ตำหนิติติง ว่าตร.มัวไปทำอะไรอยู่ เขาขอแค่นี้ก็ไม่ได้จนต้องมาตายในที่สุด อย่างที่พี่สมเพียรพูดไว้อย่าให้เขาต้องกลับบ้านด้วยยศ พล.ต.อ.และธงชาติคลุมศพ ซึ่งเราเข้าใจดี ผมถึงนำเรียนท่านรรท.ผบ.ตร.ว่าอยากให้ บก.ทพ.มาชี้แจงว่าหลังก.ตร.มีมติแล้วเราได้ทำอะไรกันบ้าง แล้วสังคมจะเข้าใจ เรายินดีรับคำตำหนิติเตียน คำวิพากษ์วิจารณ์ทุกกรณี ที่ผมว่าวันนี้ไม่ใช่มาแก้ตัวใดทั้งสิ้น

อยากเรียนให้เข้าใจว่าเราทำอะไรไปถึงไหน 6-7 วัน หลังมีมติพี่ก็มาเสียชีวิต ซึ่งเราเสียใจทุกคนที่เราไม่สามารถนำเรื่องนี้เข้าก.ตร.ได้ทัน อย่างไรก็ตามเราจะพิจารณาว่าความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้มีอะไรบ้าง ใครควรรับผิดชอบบ้าง เพราะกรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวมีอีก 91 รายที่มาร้องเรียนว่าโยกย้ายไม่เป็นธรรม

ซึ่งอนุก.ตร.ร้องทุกข์ และคณะกรรมการสอบสวนที่นายกรัฐมนตรีตั้งขั้นก็กำลังดำเนินการอยู่ ในหลายกรณี ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ.ต.อ.สมเพียร ผมว่าต้องมีคนรับผิดชอบ แต่แค่ไหนอย่างไร ผมจะนำเรียนเป็นระยะๆ ขอให้สังคมมั่นใจว่าถ้ามีสิ่งไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายและมีเหตุให้พี่สมเพียรไม่ได้รับการตอบสนองในกรณีที่เจ้าตัวไม่ได้รับการสมัครใจที่จะย้าย ถ้าไม่มีเหตุผลอันสมควรและผู้บังคับบัญชาไม่ดำเนินการอย่างโปร่งใส ผมว่า รรท.ผบ.ตร. ก็คงต้องดำเนินการและต้องมีคนรับผิดชอบในกรณีนี้อย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า คนที่รับผิดชอบ ต้องเป็น พล.ต.อ.ปทีป หรือไม่ เนื่องจากพล.ต.อ.อดุลย์ ได้ทำหนังสือให้พิจารณาถึง 2 ครั้ง ก่อนมีการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ไม่ดำเนินการ โฆษกตร. กล่าวว่า เรื่องนี้หลังจากอนุก.ตร.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพ.ต.อ.สมเพียร ก็ได้ดำเนินการ 2 ส่วน เรื่องแรกการย้ายข้ามภาคที่ต้องให้ 2 หน่วยยินยอมกัน อนุก.ตร.ได้สอบถามไปยัง ศชต.และบช.ภ. 9 แล้วให้ชี้แจงภายใน 7 วัน ว่ากรณีการแต่งตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอะไรไปบ้าง ตรงนี้จะส่งกลับมาที่อนุก.ตร.ร้องทุกข์และจะมีการดำเนินการเร่งด่วน ซึ่งความรับผิดชอบแค่ไหนอย่างไรเราทราบดีว่าใครต้องรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไรถ้าเกิดมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น

“สำหรับท่าน รรท.ผบ.ตร. นั้นผมเชื่อว่าในกระบวนการแต่งตั้งมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าระดับไหน ใครมีอำนาจอย่างไร ผมเชื่อว่าท่านตระหนักดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้างที่ท่านต้องรับผิดชอบ มีอะไรบ้างที่ท่านต้องลงไปกวดขันดูแล หรือมีอะไรบ้างที่ต้องทำให้กระบวนการต่างโปร่งใสและตอบต่อสังคมได้ ก็คงไม่ถึงขั้นที่ รรท.ผบ.ตร. จะต้องรับผิดชอบเอง แต่กระบวนการจัดการตรงนี้ผมว่าท่านตระหนักดีอยู่แล้วว่าสังคมต้องการคำตอบ เพราะฉะนั้นท่านต้องทำเรื่องนี้รวดเร็วกระจ่างชัด และผมจะมาแถลงให้ทราบต่อไป” พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า

พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า อนุก.ตร.จะตรวจสอบว่า ทำไมชื่อของ พ.ต.อ.สมเพียร นั้นหายไปจากบัญชี บช.ภ.9 ทำไมไม่ได้รับการแต่งตั้ง หลังรับการชี้แจงจาก พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฐฏ์ ผบช.ศชต.และ พล.ต.ท.วีระยุทธ สิทธิมาลิก ผบช.ภ.9 แล้ว อนุก.ตร.ร้องทุกขฺ์จะต้องตรวจสอบว่า 2 หน่วยตกลงไม่ได้เพราะอะไร มีเหตุใดจึงย้ายพ.ต.อ.สมเพียร ไปบช.ภ.9 ไม่ได้ และอนุก.ตร.ร้องทุกข์ก็ต้องตรวจสอบในประเด็นที่ พ.ต.อ.สมเพียร ระบุว่าที่ย้ายไม่ได้เพราะนายต้องการเงิน มากกว่าด้วย

ซึ่งเบื้องต้นในก.ตร.ทราบว่าปัญหาที่บช.ภ.9 ไม่รับพ.ต.อ.สมเพียร เพราะไม่มีใครยอมไป เป็นผกก.สภ.บันนังสตา แทน ซึ่งอนุ.ก.ตร.จะตรวจสอบว่าเรื่องนี้มีความพยายามในการแลกตัวกันจริงหรือไม่ ซึ่งสัปดาห์หน้า อนุก.ตร.ร้องทุกข์ชุดนี้จะหารือเรื่องนี้กัน แต่ก็ยอมรับว่าการพิจารณาของตร.ในบางเรื่องบางราวก็ช้าไป

เมื่อถามว่า กรณีพ.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิต จะมีใครออกมาแสดงสปิริต รับผิดหรือไม่ โฆษกตร. กล่าวว่า ถ้าไม่มีใครออกมาแสดงสปิริต ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการที่ต้องพิจารณาว่าใครต้องรับผิดชอบบ้าง

เมื่อถามว่าบทเรียนที่ตร.จะเอาไปแก้ไขจากเรื่องนี้คืออะไรบ้าง พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า สิ่งที่ฟังจากพ.ต.อ.สมเพียร ทราบว่า ท่านน้อยใจ พูดว่าตำรวจที่ไปทำงาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเหมือนลูกเมียน้อย เราดูแลตำรวจที่ใกล้ชิดนาย อยู่ในเมืองหลวง มีผลประโยชน์ในตำแหน่งต่างๆ และคนที่ก้อมหน้าก้มตาทำงานไม่ได้รับการเหลียวแล นอกจาไม่ได้รับการแต่งตั้ง บางส่วนยังต้องใช้เงินใช้ทองอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมรับฟังจากปากของพ.ต.อ.สมเพียร พวกเราก็ได้ยิน

“ประเด็นนี้ทุกคนต้องตระหนักแล้ว ไม่ใช่เพราะพ.ต.อ.สมเพียรเสียชีวิต แต่การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนต้องทำเรื่องนี้ให้จริงจังมากขึ้น ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ที่เรียกร้องมานาน ว่าตำรวจใต้ต้องได้รับการดูแล สิทธิประโยชน์มากกว่าที่อื่น ซึ่งจะเข้าก.ตร.ครั้งหน้า รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้ง ที่ตร.จะต้องกลับมาดูและพิจารณาเรื่องนี้” พล.ต.ท. พงศพัศ กล่าว

เมื่อถามว่า การเสียชีวิตของพ.ต.อ.สมเพียรครั้งนี้ ตร.ยอมรับใช่หรือไม่ว่าสิ่งที่พ.ต.อ.สมเพียร พูดถึงระบบการแต่งตั้งที่ล้มเหลว ไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องจริง พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ต้องตรวจสอบ เรื่องนี้พูดกันทั่วไป ตนว่าผู้บริหารตร.ต้องได้ยิน ครั้งนี้สะท้อนพอเพียงแล้ว มากกว่าพอ เกินพอ

ชี้ "ปทีป" จะออกมาพูดแน่รับเสียใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.ปทีป จะออกพูดอะไรในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง โฆษกตร. กล่าวว่า คิดว่า ท่านต้องพูด

เมื่อถามว่าจากปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ที่มีปัญหามากมาย กระทั่ง พ.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิต นายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยว่าจะเปลี่ยนตัว รรท.ผบ.ตร. หรือไม่ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ตนได้คุยกับนายกรัฐมนตรีเมื่อเช้าและนำเรียนไปว่าภาพรวมเป็นอย่างไร และบอกว่าตร.ทำอะไรไปบ้าง

“ท่านไม่ได้พูดถึงการบริหารจัดการหรือตัวบุคคล เพียงแต่ท่านให้ผมนำเรียน รรท.ผบ.ตร.ว่าให้ไปดูแลครอบครัวเขาให้ดีที่สุด เรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผมว่านายกรัฐมนตรีเองก็มีแนวทางในการดูแลองค์กร เพราะขึ้นตรงต่อท่าน หรืออาจมอบ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ประธานก.ตร. มาติดตามเรื่องนี้ แต่เรื่องอื่นท่านไม่ได้พูด ผมว่าท่านรรท.ผบ.ตร.ท่านได้พยายามทำให้ดีที่สุดในตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบในส่วนของท่านที่ยังเป็น รรท.ผบ.ตร.อยู่ ผมมีโอกาสพบ รรท.ผบ.ตร.ทุกวัน มีปัญหาเกิดขึ้นในบ้านเมืองมากกมาย
เหตุการณ์ต่างๆมากทั้งการบริหารจัดการภายใน ทั้งการรับศึกภายนอกต่างๆ ผมว่าผมพูดอะไรไม่ได้มาก ก็เห็นใจท่าน ที่ท่านยังคงเป็น รรท.ผบ.ตร.อยู่ จนถึงขณะนี้ ซึ่งเป็นเดือนที่ 6 แล้ว ท่านก็พยายามทำเต็มที่ แต่ก็มีอะไรทำได้ ทำไม่ได้ อะไรทำได้มากได้น้อย เป็นข้อจำกัดเฉพาะเรื่อง ตำแหน่ง หน้าที่รับผิดชอบ ก็เป็นเรื่องที่เราเห็นใจท่าน ผมยืนยันว่าท่านพยายามทำดีที่สุด ผมว่าท่านตระหนักในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ท่านรู้มากกว่าพวกเรา ท่านรับราชการจนจะเกษียณปีนี้แล้ว เรื่องนี้ทั้งปวงที่เกิดขึ้นท่านรู้ ตระหนักดี ท่านคงมีแนวทางของท่าน” พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าว

เมื่อถามว่า รรท.ผบ.ตร. เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ โฆษกตร. กล่าวว่า เสียใจมาก เมื่อวานคุยกับท่าน เรื่องนี้คุยกันเยอะ ท่านมอบ พล.ต.อ.อดุลย์ลงไป ท่านเสียใจที่เรื่องนี้ยังไม่ทันเข้าประชมก.ตร.แต่พ.ต.อ.สมเพียรมาเสียชีวิตก่อน ผู้บริหารในตร.ทุกคนเสียใจ อยากให้ตนไปเรียนกับครอบครัวเอกสมญา ว่าทุกคนเสียใจ

ผู้สื่อถามว่า ตร.อยากขอโทษครอบครัวของพ.ต.อ.สมเพียร อย่างไร พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า เมื่อเช้าคุยกับภรรยา ตนขอโทษไป

“ขอโทษในสิ่งที่พ.ต.อ.สมเพียรต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิต ที่ขอย้ายไปอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข ซึ่งเรารู้สึกได้ดีในความที่ทุกคนมีครอบครัว ผมขอโทษท่าน ขอโทษลูกชายของท่านด้วย เป็นคำขอโทษจากใจจริง ผมว่าตำรวจทุกคนรู้สึกได้ที่เราติดหนี้ในความรู้สึกตรงนี้อยู่ ผมเสียใจจริงๆ สัมผัสได้เพราะใกล้ชิดกับความตายมาเยอะเข้าใจความรู้สึกของคนเป็นภรรยา ขอโทษผ่านสื่อด้วยว่าสิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำนั้นช้าเกินไป ไม่สำเร็จ จนต้องมาเสียชีวิต” พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าว

ถามว่า รรท.ผบ.ตร.มีอำนาจให้มาช่วยราชการเพื่อเยียวยาก่อนได้ ทำไมไม่ทำ โฆษกตร. กล่าวว่า เราคิดไม่ถึง แต่พูดไปเหมือนแก้ตัว เรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารงานตร. และยังสะท้อนอีกหลายอย่าง บทเรียนที่ได้คือไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ทั้งนี้ตนคิดว่าหลังจากนี้ รรท.ผบ.ตร.จะเดินทางไปที่สภ.บันนังสตา ไปปลอบขวัญ พูดคุย ทำความเข้าใจ ตำรวจที่นั่น เรื่องนี้ทราบดีว่าการสูญเสียผู้นำที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานาน เป็นเรื่องที่สะเทือนใจทุกคน เรื่องนี้ใครทำผิดเมื่ออนุก.ตร.ตรวจสอบต้องมีคนรับผิดชอบ ทั้งนี้ เรื่องนี้ ตร.สำนึกผิดแล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราสำนึกผิดแล้วจริงๆ
Read more ...

"สุเทพ"นัดก.ตร.ถกตั้ง"จักรทิพย"เป็นผบช.ประจำฯเต็มตัว

4/3/53
โดย ทีมข่าวอาชญากรรม 3 มีนาคม 2553 21:24 น.

"สุเทพ" เตรียมนัดถก ก.ตร. 5 มี.ค. มีวาระการประชุมถกแต่งตั้ง "จักรทิพย์ ชัยจินดา" รองผบช.น.ให้เป็น ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร ทำหน้าที่ประสานงานนายกฯ ส่วนช่วงเช้ามีประชุม คณะกรรมการสอบสวนซื้อขายตำแหน่งที่ "ศิริโชค" ร้องเรียนไว้

วันนี้(3 มี.ค.)ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 มีนาคม เวลา 12.00 น.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)

จะเดินทางมาเป็นประธานการประชุม ก.ตร. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีวาระเรื่องที่เสนอพิจารณา

เรื่องที่ 1 พ.ต.ต.จักรกฤษณ์ บุตโรบล อุธรณ์คำสั่ง และส.ต.อ.อนัน พงษ์ทอง อุธรณ์คำสั่ง 

เรื่องที่ 2 การเลื่อนเงินเดือนให้แก่ พล.ต.ต.สุทัตต์ จารุดิลก ทันตแพทย์ (สบ.6) รพ.ตร. 

เรื่องที่ 3 ร่างระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานกู้ภัย พ.ศ.... 

เรื่องที่ 4 สำนักงานป.ป.ช. ขอสำเนารายงานการประชุม ก.ตร. และวาระสุดท้ายเรื่องอื่นๆ

รายงานข่าวแจ้งว่าในช่วงเช้าเวลา 11.00 น.จะมีการประชุมคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนร้องเรียน โดยมีนางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการก.พ.เป็นประธาน เพื่อวางแนวทางการทำงานเสนอให้ก.ตร.รับทราบในที่ประชุมก.ตร.

นอกจากนั้นจะมีการเสนอวาระเพื่อแต่งตั้ง 

พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบช.น.

 รักษาราชการแทนผู้บัญชาการประจำสง.ผบ.ตร.(ทำหน้าที่ประสานนายกรัฐมนตรี) เป็น ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.( ทำหน้าที่ประสานนายกรัฐมนตรี)

 อย่างเต็มตัว ซึ่งวาระดังกล่าวนายสุเทพได้มีการเสนอมาแล้วครั้งหนึ่งในที่ประชุมก.ตร.ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจะมีพิจารณาอย่างละเอียดในการประชุมก.ตร.ครั้งนี้
Read more ...

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม