ศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่ง สตช.ปลดอดีต ผบก.น.1 ออกจากราชการ ระบุ ปปช.ชี้มูลมั่ว พร้อมให้คืนรวมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายให้แก่ พล.ต.ต.มานิต ภายใน 45 วัน
บ่ายวันที่ 30 ก.ย.2552 ศาลปกครองกลางโดย นายอนุพงศ์ สุขเกษม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 647/2550 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2550 ที่ลงโทษปลด
พล.ต.ต.มานิต วงษ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1
ออกจากราชการ และเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่สั่งยกอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.มานิต โดยศาลยังสั่งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินการให้ พล.ต.ต.มานิต กลับเข้ารับราชการรวมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายให้แก่ พล.ต.ต.มานิต ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
คำพิพากษาดังกล่าวสืบเนื่องจากหลัง คณะกรรมการ ปปช. ได้ชี้มูล ว่า พล.ต.ต.มานิต กระทำความผิดทางวินัยและมีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและกระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงตามมาตรา 79 (2) (5) (6) แห่ง พ.ร.บตำรวจแห่งชาติ 2547 กรณีช่วยผู้กระทำผิดมิต้องได้รับโทษในการกระทำการควบคุมหรือจับกุม
นายวิชัย เอื้อสิยาพันธุ์
ซึ่งเป็นประชาชนที่ตะโกนต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2549 ที่บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า แขวงปทุมวัน กทม. จนเป็นเหตุให้มีการทำร้ายร่างกายนายวิชัย ซึ่งเป็นผู้ถูกควบคุมหรือถูกจับกุมจนเป็นเหตุให้ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจและ ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการซึ่ง ซึ่งพล.ต.ต.มานิตได้ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลปกครอง
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์เอกสารหลักฐาน คำให้การของพยานบุคคล พยานวัตถุและแผ่นวีดิทัศน์ซึ่งมีภาพเคลื่อนไหวภาพนิ่งรวมทั้งภาพถ่ายที่ปรากฏในคดีแล้ว เห็นว่า ขณะที่ พล.ต.ต.มานิตเข้าไปในที่เกิดเหตุ และมีการยื้อยุดเพื่อดึงตัวนายวิชัย เห็นว่าการกระทำเป็นลักษณะการช่วยแยกนายวิชัยออกมาจากกลุ่ม ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่าที่จะเข้าไปจับกุมตัวนายวิชัย โดยพล.ต.ต.มานิต ได้พยายามตะโกนขอให้ผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ หยุด แลพานายวิชัยไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน พล.ต.ต.มานิต ก็ได้พูดกับกลุ่มคนที่ห้อมล้อมว่าไม่มีอะไร แต่ที่ต้องนำตัวนายวิชัยออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการตีกัน
และนายวิชัยก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุว่าขณะที่ถูกรุม พล.ต.ต.มานิต ซึ่งทราบชื่อในภายหลังได้เข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งให้การเพิ่เติมในเวลาต่อมาว่าตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาหรือจับกุมตัวแต่อย่างใด รวมทั้งได้ยิน พล.ต.ต.มานิต พูดคำว่า “หยุด” ในระหว่างเกิดเหตุ ประกอบกับ พยานบุคคลคือ
นางกชชมณฑ์ อรชุนวงค์
ที่ให้การว่าเห็น พล.ต.ต.มานิตผลักนายวิชัยเข้าไปในกลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นการเห็นผ่านกล้องโทรศัพท์ที่ตัวเองถ่ายภาพจึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่า พล.ต.ต.มานิต มีเจตนาที่จะผลักนายวิชัยเข้าไปหากลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อให้มีการรุมทำร้าย เพราะหากมีเจตนาดังกล่าวจริง พล.ต.ต.มานิตก็ไม่ต้องเข้าไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ เพราะผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ใช้กำลังเข้าไปกระชาก ลากดึง นายวิชัยอยู่แล้ว
ส่วนที่พล.ต.ต.มานิตไม่ได้ดำเนินการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ ในทันทีศาลเห็นว่าการจับกุมย่อมอยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการอย่างไรตามสถานการณ์ที่เหมาะสมซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุมีการชุลมุนของประชาชนสองกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน การที่ พล.ต.ต.มานิตพยายามเข้าไป กันตัวนายวิชัย ซึ่งเป็นตัวต้นเหตุออกจากจุดเกิดเหตุเสียก่อนโดยมิได้จับกุมผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณในทันทีจึงมีเหตุผลเพียงพอที่ฟังได้ อีกทั้งนายวิชัยยังให้การว่าได้รับความช่วยเหลือจาก พล.ต.ต.มานิตกรณีจึงไม่อาจรับฟังว่า พล.ต.ต.มานิตมีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติในการเข้าจับกุมตัวเฉพาะนายวิชัยที่เป็นผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งมีพฤติการณ์ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เข้าไปช่วยเหลือนายวิชัยไม่ให้ถูกทำร้ายและไม่จับกุม ผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่ถูกกล่าวหา
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า พล.ต.ต.มานิต มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติไม่ยึดหลักความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย ใช้อำนาหน้าที่ตามอำเภอใจและใช้ดุลพินิจโดยมิชอบในกรณีให้ดำเนินคดีกับ
นายวิชัย และ
นายฤทธิรงค์ ลิขิตประเสริฐ กูล
ซึ่งตะโกนต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาส่งเสียงกระทำการอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควรในที่สาธาณณะอันเป็นการรังแกข่มเหงผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความอบอาย ตามมาตรา 370 และ 397 แห่งประมวลกฎไหมายอาญารนั้น จากข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า พล.ต.ต.มานิตได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายมงคล บุญเต็ม ที่ยอมรับว่าเป็นพวกที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และตะโกนว่า “ทักษิณ สู้ๆ” ซึ่งต่อมาในวันที่ 28 ส.ค. 2549 พล.ต.ต.มานิตได้เข้าแจ้งความขอให้ดำเนินคดี กับบุคคลในภาพที่ขอมาจากสื่อมวลชนที่ตะโดนว่านายวิชัยว่า “มึงเป็นใคร มึงถึงไปไล่เขา” ด้วยเสียงอันดังหลายครั้ง ในข้อหาเดียวกัน ดังนั้นการที่ พล.ต.ต.มานิต ที่เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ดังกล่าว ตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีกับนายวิชัยและพวก จึงเป็นการกระทำที่สมควรแก่สถานการณ์ในขณะนั้นและไม่ถือว่า พล.ต.ต.มานิต มีพฤติการณ์เลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมายและใช้ดุลพินิจมิชอบตามที่ถูกกล่าวหา
“พิจารณาจากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าการกระทำของ พล.ต.ต.มานิต ไม่ได้เป็นการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการอันไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือมีพฤติกรรมอันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบทางราชการ กระทำการอันได้ชื่อประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามนัยมาตรา 79 (2) (5) (6) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใดดังนั้นการที่ ผบ.ตร.มีคำสั่ง สตช. ลงโทษทางวินัย ปลดออกจากราชการและ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติยกคำอุทธรณ์ของ พล.ต.ต.มานิตจึงมิชอบด้วยกฎหมาย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น