พิษป้ายโฆษณาป้อมตำรวจย้ายล้างบางนครบาล

8/1/58
โดยคมชัดลึก เมื่อ 8 มกราคม 2558

เช้าตรู่วันที่ 7 มกราคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของปี 2558 แต่กลับมีประเด็นร้อน เพราะการประชุมของ ก.ตร.นัดนี้ เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับรองผู้บังคับการลงไปจนถึงระดับสารวัตร

การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจครั้งนี้ เป็นไปตามวาระ ซึ่งคงไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ แต่ในครั้งนี้กลับได้รับความสนใจจากสังคมมากเป็นพิเศษ เนื่องจากก่อนการแต่งตั้งโยกย้ายไม่นาน เกิดคดีประวัติศาสตร์ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และพวกอีกหลายคน ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง และพัวพันการรับผลประโยชน์จากธุรกิจนอกกฎหมาย มีนายตำรวจในเครือข่ายหลายคนถูกดำเนินคดี บางรายถูกโยกย้ายพ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ การแต่งตั้งครั้งนี้จึงมีการคาดการณ์ตั้งแต่แรกว่า นายตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่อยู่ในเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ จำนวนไม่น้อยจะถูกย้ายพ้นตำแหน่งเดิม ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาด เมื่อมีนายตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมากถึง 130 ราย ถูกโยกย้าย และในจำนวนนั้นมีถึง 56 ตำแหน่ง ถูกย้ายออกนอกหน่วย

ขณะที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ถูกจับตามอง เพราะก่อนหน้าการแต่งตั้งโยกย้ายรอบนี้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. มีคำสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนตำรวจในสังกัดมากถึง 76 โรงพัก หลังจากพบความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากการติดตั้งป้ายโฆษณาบนป้อมตำรวจทั่วกรุงเทพมหานครรวม 133 ป้าย นำมาสู่คำสั่งโยกย้ายตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลออกนอกหน่วยมากถึง 73 ตำแหน่ง แบ่งเป็นระดับรอง ผบก. 14 นาย ส่วนอีก 59 นาย เป็นระดับ ผกก. ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การย้ายล้างบางครั้งนี้เป็นเรื่องต้องการนำตำรวจบุคคลใกล้ชิดเข้ามาในพื้นที่นครบาลแทนคนในขั้วอำนาจเก่า ขณะที่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ยืนยันว่า ทำถูกต้องและพร้อมที่จะรับผิดชอบหากมีกรณีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

"บางคนที่โดนโยกย้ายก็มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องส่วย การพนัน และป้ายโฆษณา ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย มาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ตำรวจที่สามารถชี้แจงได้ หากผิดผมต้องรับผิดชอบ ผมมารับงานเมื่อ 1 ตุลาคม 2557 เมื่อพบความผิดก็ต้องว่ากันไปตามความเป็นจริง" พล.ต.ท.ศรีวราห์ กล่าว

ทั้งการติดตั้งป้ายโฆษณาแอลอีดีบนป้อมตำรวจ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ในยุคที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ทำสัญญากับบริษัทป้ายโฆษณาที่มีชื่อย่อว่า "ส." มีที่ตั้งอยู่ในย่านลาดพร้าว โดยบริษัทแห่งนี้เสนอมอบเงินให้กองทุนช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ในปีแรกจำนวน 4 ล้านบาท ต่อมาในปี 2557 ช่วงที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้อนุมัติให้มีการรับเงินอีก 2 งวด งวดละ 6 แสนบาท รวม 1.2 ล้านบาท กระทั่ง พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล มาเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พบความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงมีคำสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนขึ้น

หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้ ป้ายโฆษณาแอลอีดีที่เคยติดตั้งอยู่บนป้อมตำรวจหลายจุดก็ถูกระงับการใช้งาน และบางแห่งถูกรื้อถอนออกไป แต่ในบางจุดอย่างเช่น ที่แยกพัฒนาการ ยังคงเปิดใช้งานตามปกติ

ผู้สื่อข่าวเนชั่นได้สอบถามไปยังตัวแทนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับป้ายโฆษณาบนป้อมตำรวจดังกล่าว ทราบว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการทำป้ายโฆษณาบนป้อมตำรวจจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ บริษัทที่ลงนามกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งอ้างว่ามีการนำเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีอยู่เพียง 11 ป้ายเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นบริษัทอื่นที่ทำป้ายโฆษณาในลักษณะเดียวกัน แต่เงินที่ได้ไม่เข้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งมีอยู่ 20-30 จุด โดยป้ายโฆษณาเหล่านี้ใช้ไฟฟ้าของหลวง ส่วนที่เหลือจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 เป็นป้ายโฆษณาที่ผู้บริจาคสร้างป้อมตำรวจจัดทำขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้มีการดำเนินการมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยตัวแทนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับป้ายโฆษณาบนป้อมตำรวจ จึงมองว่าน่าจะเป็นการหาประเด็นเพื่อโยกย้ายตำรวจมากกว่า

สำหรับป้ายโฆษณาแอลอีดี ที่มีการติดตั้งทั้ง 133 ป้าย บริษัทชื่อย่อ "ส." แห่งนี้ จะเป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด โดยจะปล่อยให้บริษัทห้างร้านต่างๆ ได้โฆษณาสินค้า ซึ่งคิดอัตราค่าเช่าเป็นรายเดือน มีอัตราค่าเช่าตั้งแต่ 5 แสน-1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของป้ายโฆษณา ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาเช่าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนต่อครั้งต่อราย ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วพบว่า ผลประโยชน์จากป้ายโฆษณานี้จะสูงหลายร้อยล้านบาทต่อเดือน กลายเป็นคำถามตามมาว่า ผลประโยชน์มหาศาลจำนวนนี้ตกไปอยู่ในมือใคร

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม