หนังสือชี้แจง กรณี ท่านวิเชียร

2/10/52

วันที่ 7 สิงหาคม 2552

เรื่อง ขอชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีโปรดเกล้าฯให้พ้นจาก หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำและห้ามเข้าเขตพระราชฐาน

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

กระผม พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ปรึกษา (สบ 10) รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอชี้แจงกรณีไม่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย หรือเข้าไปเตรียมพร้อม ณ ที่ตั้งและไม่ได้ไปรายงานตัวที่กรมราชองครักษ์ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 อันเป็นเวลาที่มีการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และมีหนังสือห้ามเข้าเขตพระราชฐาน โดยกระผมขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อลำดับความเข้าใจประกอบการพิจารณาดังนี้

1. กระผมสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเมื่อ พ.ศ.2518 ต่อมาใน พ.ศ.2524 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่ง นายตำรวจราชสำนักประจำ จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ชั้นยศ พลตำรวจเอก ในพ.ศ.2545

ซึ่งตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการกำหนดชื่อตำแหน่งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2548 ข้อ 2 กำหนดให้เป็นตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กระผมได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยความเรียบร้อย โดยตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในราชสำนัก 25 ปี พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)

ต่อมาเมื่อปลาย พ.ศ.2548 มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ซึ่งมีการยกฐานะสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ จากเดิมที่เป็นกลุ่มงานถวายความปลอดภัยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกองบัญชาการ จึงทำให้เกิดปัญหาลักลั่นในการปฏิบัติและประสานงาน ระหว่างผู้บัญชาการสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำที่ตั้งขึ้นใหม่กับหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ที่กระผมดำรงตำแหน่งอยู่ ความขัดแย้งดังกล่าวมีอยู่ตลอดมาจนเป็นที่รู้ทั่วไปในหน่วยงานทั้งสองแห่ง

ก่อนหน้าวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเวลาที่ยังไม่มีผู้ใดทราบว่าจะเกิดการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระผมมีอาการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง มีอาการเครียด มึนและเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย แขนขา อ่อนแรง นอนไม่หลับ มีความวิตกกังวลในการปฏิบัติงาน ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2549 จึงได้ไปพบแพทย์โรงพยาบาลตำรวจแต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จึงสั่งให้พักผ่อนตามใบรับรองแพทย์

ครั้นวันที่ 19 กันยายน 2549 มีข่าวว่า อาจเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น กระผมจึงโทรศัพท์จากบ้านพักแจ้งรองหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ (พลตำรวจโท ภาสกร โพธิสุวรรณ) ว่า ควรเข้าไปในสวนจิตรลดาและหากมีเหตุการณ์ใดไม่ปกติให้แจ้งให้กระผมทราบ ประการสำคัญคือ กระผมมีเหตุจะต้องระมัดระวังทั้งโดยส่วนตัวและระบอบงานถวายอารักขา

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ซึ่งให้จัดตั้งสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ ขึ้นเป็นกองบัญชาการใหม่ มีผู้บัญชาการรับผิดชอบ แยกต่างหากจากกระผม ในฐานะหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และมีหนังสือกรมราชองครักษ์ที่ 15/2548 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2548 ให้สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำขึ้นควบคุมงานทางยุทธการกับกรมราชองครักษ์

ต่อมา ยังมีคำสั่งกรมราชองครักษ์ที่ 6/2549 ลงวันที่ 21 มกราคม 2549 ให้ผู้บัญชาการสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ มีเอกภาพในการบังคับบัญชาในการถวายความปลอดภัย การนำเสด็จพระราชดำเนิน ในการแปรพระราชฐานประทับแรมต่างจังหวัด การจัดรถยนต์เบิกทาง นำขบวนและปิดท้ายขบวน ตลอดจนบริหารงานสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ

ดังนั้น การที่กระผมในฐานะหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ หรือพลตำรวจโทภาสกร ในฐานะรองหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ จะเข้าไปจัดการดังที่เคยมีอำนาจหน้าที่มาก่อนหน้านี้ จึงอาจก่อให้เกิดความสับสน และอาจขัดต่อคำสั่งกรมราชองครักษ์ดังกล่าวได้ จึงได้แต่สดับตรับฟังสถานการณ์และรอปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ครั้นมีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครอง (คปค.) ให้นายทหารและตำรวจไปรายงานตัวที่ต้นสังกัด กระผมและรองหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ(พลตำรวจโทภาสกร) จึงได้ไปรายงานตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 20 กันยายน 2549 เวลา 07.00 น. เช่นเดียวกับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชาอื่นๆ

จนเหตุการณ์คลี่คลาย จึงได้กลับไปพบแพทย์อีกครั้งในวันที่ 21 กันยายน 2549 แต่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจราชสำนักประจำ (ผบช.สง.นรป.) คือ พลตำรวจโทฉัตรชัย โปตระนันท์ ได้ทำรายงานเป็นหนังสือแจ้งต่อกรมราชองครักษ์ ว่า กระผมไม่เข้าไปรายงานตัวต่อกรมราชองครักษ์ หลังจากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กระผมพ้นจากตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ กลับไปปฏิบัติหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2549 สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 อีกทั้งได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 708/2549 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจประจำส่วนราชการ ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2549

ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับหนังสือจากกรมราชองครักษ์แจ้งว่า สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ รายงานเหตุการณ์ที่กระผมไม่ไปรายงานตัว จึงมอบหมายให้กองวินัยดำเนินการตรวจสอบ กองวินัยได้บันทึกปากคำนายแพทย์ที่ตรวจอาการของกระผม และบุคคลอื่นๆ รวมทั้งตรวจสอบเอกสาร คำสั่งและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้บังคับการกองวินัย (พลตำรวจตรีปัญญา เอ่งฉ้วน) จึงมีบันทึกลงวันที่ 25 เมษายน 2550 รายงานจเรตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอกปทีป ตันประเสริฐ) จเรตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 และรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส) ได้มีบัญชาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 ให้ยุติเรื่องตามข้อเสนอของกองวินัย สรุปความตามรายงานการตรวจสอบได้ว่า

"กรณีจึงถือได้ว่า พลตำรวจเอกวิเชียร และพลตำรวจโทภาสกร เป็นผู้บังคับบัญชาระดับตร. เมื่อได้ไปรายงานตัวที่ ตร.เช่นเดียวกันรองผบ.ตร.และผู้บังคับบัญชาระดับตร. อื่นๆ ถือว่าเป็นการถูกต้องและเหมาะสมแล้ว คำชี้แจงของพลตำรวจเอกวิเชียร มีข้อเท็จจริงที่สามารถรับฟังได้ชัดเจนเพียงพอ และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า พลตำรวจเอกวิเชียร มีพฤติการณ์หรือการกระทำไปในลักษณะอันมีมูลเป็นความผิด ซึ่งจะต้องดำเนินการทางวินัยอย่างใด"

2. ในระหว่างการดำเนินการตาม ข้อ 1 พลตำรวจโทฉัตรชัย ผู้บัญชาการสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ ได้ทำหนังสือเวียนอ้างคำสั่งกรมราชองครักษ์ระบุว่า กระผมพ้นจากตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ จึงถูกห้ามเข้าเขตพระราชฐานต่างๆ และทวงคืนบัตรผ่านเขตพระราชฐานอันเป็นการดำเนินการที่ปราศจากอำนาจ เพราะเรื่องนี้อยู่ในอำนาจของเลขาธิการพระราชวัง

ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยคณะองคมนตรี (ฯพณฯนายพลากร สุวรรณรัฐ และ ฯพณฯนายเกษม วัฒนชัย) เป็นเหตุให้มีพระราชกระแสสำคัญตามบันทึกของสำนักราชเลขาธิการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พลตำรวจโทฉัตรชัย โปตระนันท์ พ้นตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ มาประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในระหว่างการดำเนินการดังกล่าวกระผมก็ยังคงมีการเข้าไปในเขตพระราชฐานต่างๆ ทั้งในกรณีที่ได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ และเพื่อร่วมประชุมวางแผนถวายความปลอดภัยในโอกาสต่างๆ

3. สืบเนื่องจากข้อ 1 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งกระผมพ้นจากการ "ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา(สบ 10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือ เรื่อง ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เรียน ราชเลขาธิการ ลง 30 มกราคม 2552 เพื่อหารือว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสามารถเสนอแต่งตั้งกระผมออกจากตำแหน่งประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือเทียบเท่าได้หรือไม่ เพื่อการแต่งตั้งกระผม จะได้เป็นไปด้วยความเหมาะสมและไม่เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือตอบมีใจความสำคัญว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจพิจารณาดำเนินการแต่งตั้งกระผมได้ตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องและความเหมาะสม

กระผมจึงขอกราบเรียนมาเพื่อกรุณาทราบรายละเอียดทั้งหมดข้างต้นและขอรับรองว่า เป็นความจริงทุกประการ

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม