ปฏิรูปตำรวจ โดยตำรวจเพื่อข้าราชการตำรวจ ประชาชน และสังคม

9/8/62
ปฏิรูปตำรวจ สังคมไทยจะได้อะไร?

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีแนวคิดในการพัฒนาระบบงานตำรวจโดยปรากฏหลักฐานอ้างอิงในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุผลสำคัญของการมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบงานตำรวจเนื่องจากมีการกล่าวหาว่า นักการเมืองบางกลุ่ม ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทางการเมือง (Political tool) และไม่ได้ทำงานบนพื้นฐานความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง แนวคิดในการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาระบบงานขององค์กรตำรวจได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจซึ่งมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานคณะกรรมการ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านกรอบระยะเวลาของการทำงาน ผลการศึกษา วิจัย ยังมิได้มีการนำไปใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ฯ หมดวาระ ประเด็นปัญหาการปฏิรูปตำรวจ ได้มีการหยิบยกมาศึกษาต่อ สมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยยังคงมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นหัวหน้าคณะทำงานถึงแม้ผลการศึกษาวิจัยของคณะทำงานจะได้ข้อสรุปและส่งให้รัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้พิจารณา แต่ระบบงานตำรวจยังมิได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นได้ครบวาระ

หากพิจารณาถึงแนวทางในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ประเทศไทยไม่ใช่เป็นประเทศแรกที่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ แต่ระบบงานตำรวจในหลายประเทศทั่วโลกได้มีวิวัฒนาการและมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา นักการเมืองเองก็เคยใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัย ช่องว่างของระบบโครงสร้างการบริหารงาน หากพิจารณาถึงโครงสร้างการบริหารงานตำรวจในประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน พบว่า จะเป็นการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) โดยตำรวจในแต่ละพื้นที่จะมีอำนาจในการบริหารจัดการงานของตำรวจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีการมุ่งเน้นให้ประชาชนในทุกภาคส่วน ทุกระดับชั้น ทั้งกลุ่มคนที่มีสถานภาพทางสังคมชั้นสูง (Elite group) และกลุ่มคนในระดับรากหญ้า (Grassroots) เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ ในลักษณะของการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับประชาชนในชุมชน โดยมีบทบาทที่เท่าเทียมกัน (Equal partner) ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ เช่น ระบบงานตำรวจในประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) โครงสร้างการบริหารงานถูกออกแบบมาให้คานอำนาจกันระหว่าง ๓ หน่วยงานหลัก (Tripartite structure) ได้แก่ รัฐบาลส่วนกลาง (Central government) โดยกระทรวงมหาดไทย (Home Office), คณะกรรมการบริหารงานตำรวจระดับท้องถิ่น (Police Authorities) และหัวหน้าหน่วยงานตำรวจภูมิภาค (Chief Constables)ซึ่งถูกกล่าวขานว่าเป็นระบบงานตำรวจที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ประเทศเยอรมันเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบงานตำรวจ จากอดีตที่อาชีพตำรวจเคยเป็นที่รังเกียจของประชาชนแต่จากผลการสำรวจความคิดเห็นของคนในประเทศล่าสุด พบว่า อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือ ศรัทธา และประสิทธิภาพการทำงานแต่ในขณะเดียวกันนักการเมืองในประเทศเยอรมันกลับเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับน้อยที่สุด บทเรียนในอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือสมัยฮิตเลอร์ซึ่งเป็นยุคเผด็จการทางอำนาจ มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตหลายล้านคน เป็นประวัติศาสตร์ที่เตือนใจให้คนเยอรมันรุ่นหลังได้จดจำและได้ปลูกฝังกันรุ่นต่อรุ่นว่าจะมิให้มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีก หากพิจารณาในรายละเอียดของเหตุการณ์สมัยดังกล่าว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพตำรวจในขณะนั้น มีบทบาทสำคัญที่ถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้าม และสร้างฐานอำนาจให้ตัวเอง หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ นักการเมือง องค์กรตำรวจ และประชาชน ได้มีความเห็นร่วมกันที่จะพัฒนาระบบงานตำรวจ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานจากลักษณะทหารให้มีความใกล้ชิดพลเรือนมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าตำรวจต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนมิใช่ศัตรูของตำรวจ จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศเยอรมันได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่ผ่านมา

จากการศึกษาวิจัยการปฏิรูประบบงานตำรวจในหลายๆ ประเทศที่ประสบผลสำเร็จ ได้รับการยอมรับ และได้รับความศรัทธาจากประชาชน พบว่า การจะพัฒนาระบบงานตำรวจให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น ต้องประกอบด้วยหลักสำคัญ ๓ ประการ (หลัก 3P) คือ

๑.เจตจำนงทางการเมือง (Political will) ผู้นำทางการเมืองและรัฐบาล ต้องมีเจตนารมณ์อัน แน่วแน่ที่จะปรับปรุงระบบงานตำรวจให้อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง

๒.ภาคประชาชน (Public) ประชาชนทุกภาคส่วนต้องสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานขององค์กรตำรวจและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในกิจการของตำรวจ

๓.ตำรวจ(Police) เจ้าหน้าที่ตำรวจเองต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์และสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปองค์กรทั้งในด้านโครงสร้าง ระบบงาน อำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ

องค์กรตำรวจเป็นหน่วยงานแรกในกระบวนการยุติธรรมที่สามารถบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม การทำหน้าที่ของตำรวจถึงแม้มิอาจสร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่ายได้ แต่ผลประโยชน์ของสาธารณชนและความผาสุกของประชาชนต้องถือเป็นความสำคัญในลำดับแรก (First priority) การที่จะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในทุกสาขาอาชีพได้อย่างประสบผลสำเร็จ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบงานของตำรวจให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับคนทุกชนชั้นในสังคม การศึกษาถึงแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาระบบงานตำรวจจึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนโดยรวม จากการศึกษาระบบงานตำรวจทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา พบว่า ระบบงานของตำรวจจะประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ เป็นที่เชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนได้นั้น มีการพิจารณาองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑.การบริหารงานตำรวจ (Police Administration)

๒.การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation)

๓.ความโปร่งใสในการทำงานของตำรวจ (Police Transparency)

๔.บทบาทและความรับผิดชอบของตำรวจ (Roles and Responsibilities)

๕.การฝึกอบรมและการคัดเลือก (Training and recruitment)

๖. เงินเดือน สวัสดิการและวัสดุอุปกรณ์ (Salary, welfare and resources)

๑.การบริหารงานตำรวจ (Police Administration)

 ถึงแม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ แล้วก็ตาม ระบบงานตำรวจของประเทศไทยดูเหมือนจะยังคงรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) การปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ต้องรายงานผลการปฏิบัติเข้าสู่ส่วนกลาง รวมถึงเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการตำรวจในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมัน, ออสเตรเลีย และอีกหลายๆ ประเทศ ได้มีการบริหารงานตำรวจในลักษณะกระจายอำนาจสู่ระดับท้องถิ่น (Decentralization) ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในระดับชุมชน เนื่องจากแต่ละชุมชนย่อมมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น แต่ละชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอาชญากรรมในพื้นที่ในรูปของคณะกรรมการร่วมกันกับตำรวจในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทของสังคมไทย การกระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจลงไปสู่ระดับท้องถิ่นเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล, เทศบาล และชุมชนในฐานะหุ้นส่วนในงานของตำรวจ จำเป็นต้องมีการพิจารณา ทบทวนอย่างรอบคอบ และรัดกุมเนื่องจากสังคมไทยยังเกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ (Patronage system) การให้ความช่วยเหลือและการตอบแทนบุญคุณยังถือเป็นเรื่องปกติ ความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงระหว่างผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หัวคะแนน นักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ (Tamada, 1991). ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ทั้งในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจ, การรักษาความปลอดภัยให้ชุมชน, นโยบายในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ เป็นต้น

๒.การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) 

ระบบงานตำรวจในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เช่น ประเทศไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ประสบปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาช้านาน เนื่องจากปัญหาการเมือง การปกครอง ตั้งแต่การตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ การทำหน้าที่ของตำรวจในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง รัฐบาลอังกฤษได้ตระหนัก และเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังปรากฏในรายงานของฮันต์ (Hunt’s report) ซึ่งเสนอว่าเพื่อที่จะสร้างความร่วมมือ ความเข้าใจและความศรัทธาในตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับท้องถิ่น ลักษณะบางประการของตำรวจที่คล้ายกับทหารควรถูกปรับเปลี่ยน เช่น เครื่องแบบและชื่อของหน่วยงานตำรวจ หลังจากนั้น เกือบ ๓๐ ปีต่อมา รัฐบาลอังกฤษได้มีการพิจารณาปฏิรูปการเมืองในประเทศไอร์แลนด์เหนือโดยแต่งตั้ง Chris Patten อดีตผู้ว่าการเกาะฮ่องกง เป็นหัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูป ได้มีการเสนอจัดตั้งคณะกรรมการตำรวจ (District Policing Partnerships Board; DPPB) ทั้ง ๒๑ เขตโดยกรรมการมาจากการคัดเลือกกันเองภายในท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานตำรวจมากยิ่งขึ้น (Northern Ireland Office, 1998)

ญี่ปุ่น เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ควรมีการศึกษาระบบงานตำรวจในบริบทของทวีปเอเชียเนื่องจากได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีเศรษฐกิจเติบโตในอันดับต้นๆ ของโลก แต่กระนั้นก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นมีสถิติการเกิดอาชญากรรมอยู่ในระดับที่ต่ำมาก (Johnson, 1993; Rake, 1987) ปัจจัยสำคัญของการควบคุมปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการจัดตั้งตู้ยามตำรวจ (Police box) ที่รู้จักกันในชื่อว่า Koban และ Chuzaisho ซึ่งแนวคิดดังกล่าว เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างตำรวจกับประชาชน (Finch, 1999) โดยตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามตู้ยามตำรวจ จะออกเยี่ยมเยียน พบปะ ประชาชนในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลของบุคคลต่างๆ ทั้งในเรื่องอาชีพ, สมาชิกในครอบครัว, รายได้ ฯลฯ และจัดเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ในสารบบ แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดตำรวจชุมชนในลักษณะ ตู้ยามที่ครอบคลุมทั่วประเทศนำไปสู่ปัญหาการแพร่ระบาดของการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะในเรื่องบ่อนการพนันและองค์กรอาชญากรรม ซึ่งถูกกล่าวขานว่า “อยู่เหนือกฎหมาย” (Above the law) (Johnson, 2003)

ระบบงานตำรวจในประเทศไทยได้พิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้น โดยได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔) ที่ได้กล่าวถึง การส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีความปลอดภัย อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมโดยส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวและรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันให้เข้มแข็ง ส่งเสริมให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม มีการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีงบประมาณและเจ้าหน้าที่ที่มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในงานของตำรวจเพราะหน่วยงานเหล่านี้ เป็นหน่วยงานปกครองที่เล็กและใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด มีความเข้าใจในปัญหา และบริบทที่ชุมชนตั้งอยู่ น่าจะสามารถทำหน้าที่ร่วมกันกับฝ่ายปกครองและตำรวจในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการอำนวยความยุติธรรมในด้านอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ภายใต้บริบทของสังคมไทย การเข้ามามีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในระดับตำบล, เทศบาล และชุมชนในฐานะหุ้นส่วนในงานของตำรวจ จำเป็นต้องมีการพิจารณาถึงระดับ และบทบาทของการเข้ามามีส่วนร่วม หากทำหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจในการสอดส่อง ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน ป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่หากหน่วยงานท้องถิ่นเหล่านี้ เข้ามามีส่วนร่วมในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในทางคดีในรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) อาจมีปัญหาเรื่องของการผดุงความยุติธรรมซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของตำรวจ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในระดับท้องถิ่นซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวคะแนน นักการเมืองในทุกระดับ ยังคงมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอยู่

๓.ความโปร่งใสในการทำงานของตำรวจ (Police Transparency)

ปัจจุบันประชาชนสามารถร้องเรียนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา, จเรตำรวจแห่งชาติ, สื่อมวลชน รวมทั้งการฟ้องร้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่การดำเนินการดังกล่าว ดูเหมือนจะยังไม่สามารถเยียวยาความรู้สึกของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ นอกจากนี้ การพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจในแต่ละกรณีใช้เวลานาน ผลการตัดสินก็ต้องส่งเรื่องกลับไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง ดังนั้น การตรวจสอบการทำงานของตำรวจโดยภาคประชาชนจึงมีความสำคัญ และจำเป็นเนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ศรัทธาและความร่วมมือในการป้องกันอาชญากรรมของชุมชน

ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานคณะทำงานฯ ได้มีการพิจารณารูปแบบระบบการตรวจสอบการทำงานของตำรวจจากภายนอก คือ คณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์ซึ่งต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับจเรตำรวจ สอดคล้องกับระบบงานตำรวจในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษ มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบการทำงานของตำรวจ หรือ Independent Police Complain Commission (IPCC) แนวคิดสำคัญของการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ คือเพื่อปกป้องสิทธิของพลเมือง ให้ความมั่นใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับตำรวจ และสนับสนุนการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย แต่กระนั้นก็ตาม รูปแบบการตรวจสอบการทำงานของตำรวจในลักษณะดังกล่าว น่าจะยังไม่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากการรับรู้ถึงสิทธิ และหน้าที่พลเมืองของประชาชนคนไทย ยังคงแตกต่างจากพลเมืองในต่างประเทศ และหากมีการจัดตั้ง IPCC ขึ้นจริง ก็อาจมีการล็อบบี้ ข่มขู่ คณะกรรมการในการพิจารณาตัดสินลงโทษตำรวจในคดีนั้นๆ หากเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาก่อนประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน แต่เพิ่งจะมีแนวคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของตำรวจโดยบุคคลภายนอกภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี

๔.บทบาทและความรับผิดชอบของตำรวจ (Roles and Responsibilities)

เนื่องจากระบบการบริหารงานตำรวจในหลายๆ ประเทศมีลักษณะของการกระจายอำนาจไปสู่ระดับชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีบทบาท ร่วมรับผิดชอบในงานของตำรวจซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ระบบงานตำรวจยังคงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และงานในความรับผิดชอบในหลายส่วนยังคงเป็นหน้าที่ของตำรวจ เช่น ตำรวจรถไฟ, ป่าไม้, ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, ตำรวจน้ำ, ตำรวจตระเวนชายแดน, งานจราจร เป็นต้น การรวมศูนย์อำนาจในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้งานในความรับผิดชอบของตำรวจมีมากมายหลายด้าน ขาดทักษะ และความชำนาญในการทำงานที่มีลักษณะเป็นมืออาชีพ (Professional) เนื่องจากแต่ละสายงานสามารถโยกย้ายได้และไม่ได้มีการฝึกฝน พัฒนาทักษะในการทำงานเท่าที่ควร แตกต่างกันกับระบบงานตำรวจในต่างประเทศที่มีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมมากกว่าการมุ่งเน้นเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละสายงาน ทำให้ระบบงานมีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิผล เช่น การจับกุมผู้กระทำความผิดกฎจราจรโดยการใช้กล้องวงจรปิด, การจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีช่วยในการป้องกัน สืบสวน จับกุมผู้กระทำความผิดด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์, การกำหนดค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครที่มาช่วยงานตำรวจ เป็นต้น

การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศในงานตำรวจตำรวจเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันอาชญากรรม สืบสวน ติดตาม จับกุมผู้กระทำความผิด เช่น เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษเคยถูกผู้ก่อการร้ายลอบวางระเบิดในรถไฟใต้ดิน และบนรถประจำทาง เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๕ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าประเทศอังกฤษจะได้รับการกล่าวขานถึงเรื่องการใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย จากงานศึกษาวิจัย พบว่า คนที่ใช้ชีวิตปกติในประเทศอังกฤษจะถูกจับภาพโดย CCTV โดยเฉลี่ย ๓๐๐ ภาพต่อคนต่อวัน แต่หลังจากการถูกลอบวางระเบิดโดยกลุ่มก่อการร้าย ตำรวจอังกฤษสามารถป้องกัน และจับกุมผู้เตรียมก่อเหตุได้ทุกครั้ง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำหน้าที่ของตำรวจมีประสิทธิภาพคือความพร้อมของอุปกรณ์ ความเชื่อมโยงของระบบฐานข้อมูล นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันเหตุ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การพัฒนาระบบงานตำรวจต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบฐานข้อมูล และการพัฒนาบุคลากร เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของงานตำรวจ

๕.การฝึกอบรมและการคัดเลือก (Training and recruitment)

ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมได้มีวิวัฒนาการเช่นเดียวกันกับการเจริญเติบโตของทั้งภาคเศรษฐกิจ, อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าทันกับกระแสสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ นั้น ย่อมต้องคำนึงถึงการให้ความรู้ มุ่งเน้นที่การฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในแต่ละด้าน มีความเป็นมืออาชีพ (Professional) โดยเฉพาะในสายงานหลักได้แก่ สอบสวน, สืบสวน, สายตรวจ, จราจร และอำนวยการ ซึ่งแนวทางการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวต้องทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี ต้องมีการวางแผนพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ก่อนที่บุคคลผู้นั้นจะเข้ารับราชการตำรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นั้นมีความพร้อมในการทำงาน เท่าทันกับการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม หากพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาความรู้ของตำรวจไทยในปัจจุบัน พบว่า ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการฝึกอบรม นอกจากนี้ หากมีการจัดให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในระดับสถานีตำรวจเข้ารับการฝึกอบรม คนที่ถูกส่งไปมักจะเป็นคนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพราะหากส่งคนที่มีความสามารถในการทำงานเข้ารับการพัฒนาความรู้ จะส่งผลต่อการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการทำงาน หากเปรียบเทียบกับระบบงานตำรวจในหลายๆ ประเทศ พบว่า แนวทางการปฏิบัติตรงกันข้าม มีการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดชุมชนเนื่องจากต้องทำงานสัมผัสกับประชาชนโดยตรง หากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการอบรม พัฒนาศักยภาพในการทำงาน ปัญหาอาชญากรรมก็จะลดน้อยลง ส่งผลดีต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

หากพิจารณาถึงการคัดเลือกพลเรือนเข้ารับราชการตำรวจ พบว่า ผู้ที่จะเข้ามาเป็นตำรวจ นอกจากจะถูกตรวจสอบความประพฤติ ประวัติการกระทำความผิดและพื้นฐานครอบครัวแล้ว ยังต้องมีการพิจารณาถึงเจตคติ แนวคิดของการเลือกที่จะมาเป็นตำรวจ รวมทั้งต้องวิเคราะห์ถึงสภาพของจิตใจโดยมีการทำแบบทดสอบเหมือนกับในต่างประเทศ นอกเหนือไปจากการวัดความรู้ และพิจารณาที่คุณวุฒิทางการศึกษาเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันสั้น หากผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นตำรวจ จะส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่เพราะอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีทั้งอาวุธปืนและต้องทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

๖. เงินเดือน สวัสดิการและวัสดุอุปกรณ์ (Salaries, welfare and resources)

การพัฒนาระบบงานตำรวจให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องพิจารณาถึงค่าตอบแทนทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง สวัสดิการ และวัสดุอุปกรณ์ หากพิจารณาโดยละเอียดแล้ว พบว่า ค่าตอบแทนของตำรวจ ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการอื่นในกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา, อัยการ เป็นต้น ทั้งๆ ที่ตำรวจเป็นปราการด่านแรกในการเผชิญหน้ากับปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน หากได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่ต่ำแล้ว ย่อมส่งผลต่อแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำไปสู่ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ หากเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของตำรวจในต่างประเทศ เช่น ตำรวจในประเทศอังกฤษ ได้รับค่าตอบแทนรายเดือนโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐ เท่าของค่าตอบแทนของตำรวจไทย ถึงแม้ค่าครองชีพในประเทศอังกฤษจะสูงกว่าของประเทศไทย แต่หากเปรียบเทียบสัดส่วนราคาสินค้า อาหารกับค่าตอบแทนที่ได้รับการจัดสรร ก็ยังถือว่าเงินเดือนของตำรวจในต่างประเทศสูงกว่าประเทศไทยมาก แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนข้าราชการตำรวจไทยทั้งประเทศมีเป็นจำนวนมาก ประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน หากพิจารณาให้ขึ้นเงินเดือนเพียงคนละ ๑,๐๐๐ บาท ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเดือนละกว่า ๒๕๐ ล้านบาท หากพิจารณาเป็นรายปี ต้องใช้งบประมาณปีละกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ส่งผลต่องบประมาณโดยรวมของทั้งประเทศ ดั้งนั้น การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่หน่วยงานตำรวจ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการรับบุคลากรเพิ่ม ย่อมส่งผลต่อการพิจารณาค่าตอบแทนที่จะจัดสรรให้แก่ตำรวจแต่ละนาย

หากพิจารณาถึงสวัสดิการและวัสดุอุปกรณ์ในการสนับสนุนการทำงานของตำรวจ พบว่า ยังคงประสบปัญหาหลายด้าน สวัสดิการของตำรวจในด้านต่างๆ ยังไม่เหมาะสม เช่น ที่พักอาศัยมีไม่เพียงพอ, การรักษาพยาบาลซึ่งจำกัดเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐและเบิกไม่ได้ทั้งหมด, เงินเบี้ยเลี้ยงที่อยู่ในระดับต่ำ ออกไม่ตรงตามกำหนด เป็นต้น หากพิจารณาถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน ยิ่งพบว่า ยังมีไม่เพียงพอต่อการทำงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในระดับพื้นที่ เช่น รถสายตรวจและน้ำมันที่ได้รับการจัดสรรมีไม่เพียงพอ โดยเฉลี่ยต้องออกตรวจผลัดละ ๘ ชั่วโมงแต่ได้รับการจัดสรรน้ำมันในช่วงระยะเวลาที่ออกตรวจโดยเฉลี่ยไม่ถึง ๑๐ ลิตรต่อหนึ่งผลัดซึ่งไม่เพียงพอต่อการออกตรวจในเขตพื้นที่รับผิดชอบโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด การแก้ไขปัญหาในระดับสถานีตำรวจก็ต้องพึ่งพางบประมาณของหน่วยงานระดับท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล, เทศบาล เนื่องจากสามารถจัดเก็บรายได้จากชุมชน แต่การบริหารจัดการในลักษณะดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในลักษณะถ้อยที ถ้อยอาศัย หากหัวหน้าหน่วยงานในระดับชุมชนเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย หรือประพฤติมิชอบ นอกจากนี้ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจว่าอาวุธปืนประจำกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องหาซื้อกันเองทั้งในลักษณะผ่อนเป็นรายงวดจึงจะได้อาวุธปืน หรือการซื้อด้วยเงินสด เพราะอาวุธปืนของทางราชการส่วนใหญ่ไม่เพียงพอ และมีประสิทธิภาพไม่เท่าเทียมกับอาวุธปืนที่หาซื้อจากภายนอก ซึ่งยังไม่รวมถึงเสื้อเกราะกันกระสุน ที่ได้รับการจัดหาให้เฉพาะบางหน่วยงานเท่านั้น

การพัฒนาระบบงานตำรวจในประเทศไทย ยังคงเป็นคำถามที่ยังคงต้องหาคำตอบว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ทิศทางใด และจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากน้อยเพียงใด แต่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การจะพัฒนาระบบงานตำรวจให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม มิอาจทำได้โดยองค์กรตำรวจแต่เพียงลำพัง แต่ยังต้องการแรงผลักดันทั้งจากระดับนโยบาย องค์กรตำรวจ และภาคประชาชน ท้ายที่สุด หากประสบผลสำเร็จ การแจ้งเบาะแส ข้อมูลอาชญากรรมต่างๆ จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างเต็มที่ และสาธารณชนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกับตำรวจ ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจและเป็นที่ศรัทธาของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างที่ปรากฏชัดในหลายๆ ประเทศ

พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

- อาจารย์ (สบ ๒) คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
- ประธานบริหารหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต (เสาร์-อาทิตย์)
- ที่ปรึกษาสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime; UNODC)
Master of Research (UK), Ph.D. in Criminology and Criminal Justice Administration, Ph.D. in Sociology (UK)

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม