ตั้ง กก.คุมแต่งตั้งตำรวจ ปาหี่ฟอกขาว

28/10/57
โดย สน.พระอาทิตย์ ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อ 26 ต.ค.2557

การป่าวประกาศจะแต่งตั้งโยกย้าย โปร่งใส เป็นธรรม ก็ไม่มีความหมาย ตราบใดที่ความเป็นจริงแล้วการแต่งตั้งก็ยังเลือกเฉพาะพวกพ้อง การตั้งกรรมการขึ้นมาก็จะเป็นแค่เพียงการฟอกขาวให้ตัวเองเท่านั้น

การออกคำสั่งแต่งตั้ง 

“คณะทำงานพิจารณามาตรการกำชับผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ” 

ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จะด้วยเหตุผลต้องการควบคุมการแต่งตั้งให้เกิดความเป็นธรรม หรือเพียงต้องการสร้างเกราะป้องกันตัวเอง ไม่ให้ถูกฟ้องร้องจากตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ยังถือว่าจะทำให้ตำรวจที่ไร้เส้น ไร้สาย อุ่นใจมากขึ้น

แม้การแต่งตั้งโยกย้าย “รองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) - สารวัตร (สว.)” ประจำปี 2557 จะยังไม่มีสัญญาณจาก “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง แม่ทัพใหญ่ ให้เริ่มทำบัญชีแต่งตั้ง มีแค่เพียงหนังสือแจ้งให้จัดทำบัญชีอาวุโสผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งสูงขึ้นในแต่ละหน่วยงานจากสำนักงานกำลังพลเท่านั้น

ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ในแวดวงสีกากี ตำรวจระดับนายพันกำลังระส่ำระสายไม่เป็นอันทำงาน โดยเฉพาะตำรวจคนทำงาน แต่ไม่มีสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจใหม่ที่บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.สมยศ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา รักษาการ รอง ผบ.ตร. หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำกับดูแลงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะภาพสะท้อนจากการแต่งตั้งระดับนายพลที่ผ่านมา บ่งชี้ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายที่ตำรวจ ซึ่งมีความใกล้ชิดขั้วอำนาจเก่า จะต้องกระเด็นกระดอนออกจากตำแหน่ง บางรายถูกดันขึ้นไปแขวนในตำแหน่งไม่สำคัญ บางรายถูกโยกเข้ากรุ แต่ตำรวจที่มาแทนที่ในตำแหน่งสำคัญๆ ต่างก็ล้วนมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขั้วอำนาจใหม่ หรือมีสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไปถึงคนใดคนหนึ่ง ไม่มีตำรวจ “โนเนมไร้คอก” ขยับเข้ากุมบังเหียนตำแหน่งสำคัญจากผลงานล้วนๆ สักรายเดียว

คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณามาตรการกำชับผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ออกโดย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) อ้างถึงความเห็น ก.ตร. มีข้อสังเกตเรื่องที่อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (อ.ก.ตร.) ร้องทุกข์ มีมติเยียวยาแก้ไขให้ข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งสูงขึ้น หรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนแต่งตั้งให้กลับไปดำรงตำแหน่งเดิม

โดย ก.ตร. เห็นว่า การมีมติของ อ.ก.ตร. ร้องทุกข์จะมีผลผูกพันธุ์เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ ก.ตร. จะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบก.- ผกก. ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 88//2557

พล.ต.อ.เอก แต่งตั้งให้ 

พล.ต.ท.วัฒนา สักกวัตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ดูงานด้านกฎหมายและคดี เป็นประธาน 

คณะทำงาน ประกอบด้วย 

พล.ต.ต.ประสิทธิ เฉลิมวุฒิศักดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (รอง ผบช.กมค.), 
ผู้บังคับการกองคดีปกครองและคดีแพ่ง, 
ผู้บังคับการกองร้องทุกข์, 
ผู้บังคับการกองวินัย, 
พ.ต.อ.ศิริพล กุศลป์วุฒิ ผู้กำกับการกลุ่มงานกฎหมายกองกฎหมาย, 
พ.ต.ท.ส่งศักดิ์ สาธารลุย สารวัตรกลุ่มงานพิจารณา 1 กองร้องทุกข์ เป็น คณะทำงานและเลขานุการ

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือ ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการกำชับผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อลดปัญหาการร้องทุกข์ เนื่องจากการแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรมและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เชิญหน่วยงาน หรือผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมพิจารณา หรือชี้แจงต่อคณะทำงาน ขอข้อมูล เอกสาร ความเห็นจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะทำงาน

อย่างไรก็ดี คำสั่งนี้จะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ทำให้ “ตำรวจไร้เส้น ไร้สาย” อุ่นใจได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจ จริงจัง ของคณะกรรมการทั้งหมด ที่จะต้องต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในการแต่งตั้งให้กับข้าราชการตำรวจน้อยใหญ่ ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นมา

และที่สำคัญ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องการให้การแต่งตั้งโปร่งใส เป็นธรรม อย่างแท้จริง ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้ เป็นแค่เพียงพิธีกรรมหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับพิธีกรรมอื่นๆ ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองแล้วนั้น

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บริหารกรมปทุมวัน ต้องยึดหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ โดยต้องดูค่าของคนจากประวัติ ผลงาน ความสามารถ

ไม่ใช่ค่าของคนจากคนของข้า

ไม่เช่นนั้นการร้องเรียนเรื่องความเป็นธรรม ความโปร่งใสในการแต่งตั้งตำรวจก็ไม่มีวันเกิดขึ้น ถึงจะตั้งกฎ กติกา ตั้งกรรมการมาควบคุมดูแล หรือป้องกันวิธีการหนึ่งวิธีการใดก็ตาม

เหมือนอย่างกรณีที่ 

พล.ต.อ.สมยศ เซ็นคำสั่งให้ 

พล.ต.ต.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบช.ก.) ไปรักษาการตำแหน่ง ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. (ทำหน้าที่ประสานงานนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย) และการแต่งตั้ง 

พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา (รอง ผบก.ภ.จ.สงขลา) ไป รักษาการตำแหน่ง ผู้บังคับการประจำสำนักงาน ผบ.ตร.(ทำหน้าที่ประสานงานนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย) 

ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอย่างมาก

พล.ต.ต.รอย ได้รับมอบหมายไปทำหน้าที่ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.(ทนท.ประสานงานนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย) แต่จะทำงานได้เต็มที่แค่ไหน เพราะขณะนี้ พล.ต.ต.รอย เข้ารับการอบรมในหลักสูตร วปอ. เป็นเวลา 1 ปี คำถามจึงเกิดขึ้นว่าแล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปประสานงาน เนื่องจากตามปกติการเรียน วปอ. ส่วนใหญ่ก็จะขาดจากตำแหน่งเดิมอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.สุรเชษฐ ที่ได้รับมอบหมายไปทำหน้าที่ ผบก.ประจำ สง.ผบ.ตร.(ทนท.ประสานงานนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย) ก็ถูกต้องคำถามถึงความเหมาะสม เพราะ พ.ต.อ.สุรเชษฐ ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนหลักสูตรผู้การฯเลย

การแต่งตั้งให้ทั้ง 2 นาย ไปทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าตำแหน่งตัวเอง จึงเป็นข้อครหา ข้อสงสัย ที่ พล.ต.อ.สมยศ ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน ไมใช่เพื่อให้สังคมกระจาง แต่ต้องให้ตำรวจอีกกว่า 2 แสนนาย ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา พล.ต.อ.สมยศ เข้าใจ เหตุและผลในการมอบหมายว่าทั้งคู่มีความเหมาะสมเพียงใด และคำถาม ข้อสงสัยจะแก้ต่างอย่างไร

ไม่เช่นนั้นแล้วการป่าวประกาศจะแต่งตั้งโยกย้าย โปร่งใส เป็นธรรม ก็ไม่มีความหาย ตราบใดที่ความเป็นจริงแล้วการแต่งตั้งก็ยังเลือกเฉพาะพวกพ้อง การตั้งกรรมการขึ้นมาก็จะเป็นแค่เพียงการฟอกขาวให้ตัวเองเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม