โดยผู้จัดการ เมื่อ 26 ส.ค.2556
สน.พระอาทิตย์/สามยอด
ก.ตร.หรือคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ตีตราให้เรียบร้อยสมใจ “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว”แม่ทัพใหญ่สีกากี ที่เสนอเห็นชอบกำหนดตำแหน่ง นายเวร(นว.) สบ.6เทียบเท่า ผู้บังคับการ(ผบก.) ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)พิจารณาในวันที่ 26ส.ค.นี้
แม้ก.ตร.จะมีเงื่อนไขให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปพิจารณาปรับระดับตำแหน่งนายเวรของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)-ผู้บังคับการ(ผบก.)ตามความเหมาะสม แล้วนำเสนอ ก.ตร.พิจารณาอีกครั้งแต่ทุกอย่างก็คงไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นเรื่องการสมประโยชน์ทุกฝ่าย
จะไม่ใช่เรื่องสมประโยชน์อย่างไร ในเมื่อ กรรมการ ก.ตร. ครึ่งหนึ่งเป็น ก.ตร.โดยตำแหน่ง นั่นคือ รองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติถ้ามีการเสนอขอปรับระดับ นายเวรและผู้ช่วยนายเวร ของ รองผบ.ตร.-ผบก.ขึ้นมาตัวเองก็ได้ประโยชน์เช่นเดียวกับผบ.ตร.
“การขออนุมัติกำหนดตำแหน่งนายเวร (สบ6) ผบ.ตร.ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าผบก. ยศพล.ต.ต. จากเดิมที่นายเวรผบ.ตร.เป็นตำแหน่งเทียบเท่ารอง ผบก.ยศพ.ต.อ.เท่านั้น เนื่องจากตำแหน่งนายเวรผบ.ตร. ต้องประสานงานกับนายตำรวจระดับ ผบก.จึงต้องมีการยกระดับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการประสานงานซึ่งในอดีตนายเวร อธิบดีกรมตำรวจ ยศ พ.ต.อ. ขณะที่ผู้การจังหวัดในสมัยนั้นก็มียศพ.ต.อ.เท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้การจังหวัดยศพล.ต.ต.แล้ว”
ผบ.อดุลย์ แจกแจงเหตุผลของการเสนอ ก.ตร.ขอปรับระดับ นายเวรผบ.ตร.เอาไว้
แม้การประสานงานในระดับที่ต่างกันจะเป็นปัญหาสำคัญที่ควรจะปรับระดับตำแหน่งขึ้นมาก็จริง แต่เมื่อปรับระดับขึ้นมาแล้วในทางอ้อมหรือจะเป็นทางหลักของบางคน การปรับขึ้นมาก็ทำให้เจ้าของตำแหน่ง ทั้งผบ.ตร. รองผบ.ตร. หรือผู้ช่วย ผบ.ตร. ก็จะได้ประโยชน์ สามารถแต่งตั้งคนของตัวเองมารับตำแหน่งที่สูงขึ้นได้
จากเดิม ตำแหน่ง นายเวร ผบ.ตร. เทียบเท่า รองผบก.ผู้ช่วยนายเวร ผบ.ตร. เทียบเท่า ผู้กำกับการ(ผกก.) นายเวร รองผบ.ตร. เทียบเท่าผกก. ผู้ช่วยนายเวร รองผบ.ตร. เทียบเท่า รองผู้กำกับการ(รองผกก.) นายเวรผู้ช่วยผบ.ตร.เทียบเท่า รองผกก. ผู้ช่วยนายเวร ผู้ช่วยผบ.ตร.เทียบเท่า สารวัตร(สว.)
เมื่อปรับใหม่ ตำแหน่ง นายเวร ผบ.ตร. จะเทียบเท่า ผบก. ติดยศพล.ต.ต. ผู้ช่วยนายเวร ผบ.ตร.จะขยับขึ้นเป็น รองผบก. นายเวร รองผบ.ตร. ขยับตามมาเป็น รองผบก. ผู้ช่วยนายเวร รองผบ.ตร. ขึ้นเป็น ผกก. นายเวรผู้ช่วยผบ.ตร. ก็ขึ้นเป็น ผกก.ผู้ช่วยนายเวร ผู้ช่วยผบ.ตร. เป็น รองผกก.
ยิ่งในการแต่งตั้งยุคปัจจุบันหากตรวจแถวการแต่งตั้งแต่ละตำแหน่งที่ผ่านมา จะเห็นว่า “การเมือง”รุกคืบเข้ามาเขมือบส่วนแบ่งผู้บริหารตำรวจมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งเกิดปัญหานายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่สามารถสนับสนุนคนของตัวเองให้เติบโตได้เพราะเก้าอี้มีน้อยความต้องการมีเยอะ
ผู้มีอำนาจทางการเมืองมีความต้องการสูงข้าราชการประจำที่ต้องอาศัยการเมืองสนับสนุนก็ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองไปให้กิน
นโยบายการปรับตำแหน่ง นายเวรและผู้ช่วยนายเวร ให้ ผบ.ตร.รองผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร. น่าจะเป็นหนทางในการช่วยแก้ปัญหา “เก้าอี้เต็ม”ได้อย่างดีเพราะตำแหน่ง นายเวร ผู้ช่วยนายเวรเป็นตำแหน่งเฉพาะที่จะให้สิทธิ์นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เสนอคนของตัวเองขึ้นมาโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจาก ผบ.ตร. ยกเว้นนายตำรวจผู้นั้นจะไปแต่งตั้งคนของนักการเมืองหรือใครก็อีกเรื่องหนึ่ง
การปรับตำแหน่ง นายเวรและผู้ช่วยนายเวรแม้จะช่วยแก้ปัญหาเก้าอี้เต็มให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ได้อย่างดีก็จริงแต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การปรับเช่นนี้ส่งผลสะท้อนไปกระทบการบริหารงานบุคลภายในองค์กรทั้งระบบโดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายระดับล่างๆ ที่เหล่าบรรดา ผู้บัญชาการ(ผบช.)ในฐานะผู้ทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพันลงมาต้องปวดหัวเพิ่มขึ้นเพราะต้องจัดสรรตำแหน่งให้กับ นายเวร และผู้ช่วยนายเวร ผู้บังคับบัญชาลงตำแหน่ง
ที่สำคัญผู้ที่ได้รับผลกะทบมากที่สุด คงจะเป็นตำรวจที่ “ทำงานเก่งแต่ไร้เส้นสาย”โอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงานในตำแหน่งที่ดีๆ ก็คงจะต้องถูกปิดตาย
เพราะตำแหน่งเทียบเท่าของนายเวรและผู้ช่วยนายเวรอยู่ในระดับผู้นำหน่วย เมื่อมีการแต่งตั้งเกิดขึ้น นายเวรและผู้ช่วยนายเวรก็มักจะเลือกเก้าอี้ดีๆ เก้าอี้ทำเลทองผบช.ที่ทำบัญชีก็เกรงใจตั๋วผู้บังคับบัญชาที่ส่งมาก็ต้องยอมจัดให้ไปดำรงตำแหน่งตามที่ขอมา
ด้วยระบบเช่นนี้ก็ส่งผลไปถึงหน่วยงานที่บางครั้งนายเวรและผู้ช่วยนายเวรบางคนคนไปอยู่เป็นหัวหน้าหน่วยหลักๆโรงพักที่ต้องทำงานสัมผัสกับประชาชน ก็ไม่สามารถทำงานได้ดีเพราะทั้งชีวิตไม่เคยจับโจร เอาแต่ถือแฟ้ม ถือกระเป๋าเอกสารตามนายพอเจองานจริงก็ทำไม่ได้หน่วยงานก็เกิดปัญหา เหมือนคำที่จ่า พวกดาบ มักแอบนินทานาย
“เอาแต่เก็บ เก็บแล้วอม อมแล้วก็ไม่ทำงาน พอทำงานก็ทำไม่เป็น”
นโยบายการปรับตำแหน่งเพื่อให้เกิดความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆของสำนักงานผู้บังคับบัญชามีการทำกันมาหลายครั้ง หลายยุค หลายสมัย ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่พอผู้นำหน่วยเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยน มีการสั่งยุบ สั่งเลิกนโยบายเก่าๆทิ้งไป
ทำให้การปรับตัวขององค์กรตำรวจไม่ยั่งยืนและไม่ได้แก้ปัญหาระบบโครงสร้างเป็นแต่เพียงสนองความต้องการของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
เหมือนอย่างสมัยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็น ผบ.ตร.มีการเพิ่มตำแหน่ง ประจำสำนักงานผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับ ผบ.ตร.รองผบ.ตร.และผู้ช่วยผบ.ตร. ด้วยอ้างหตุผลเพื่อปัญหาหน่วยงานขาดบุคลากรเพราะตำรวจที่ลงไปอยู่ตำแหน่งต่างๆในแต่ละหน่วยงานถูกเรียกมาช่วยงานสำนักงานผู้บังคับบัญชา ก็เลยมีนโยบายกำหนดตำแหน่งประจำสำนักงานขึ้นมา ไล่เรียงระดับ สารวัตรยาวไปถึงระดับผู้การฯ
พอสิ้นยุคพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เปลี่ยนผ่านมายุคพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มาเป็น ผบ.ตร. ด้วยข้อบาดหมางระหว่างกัน รวมทั้งมองว่าการกำหนดตำแหน่งประจำสำนักงานขึ้นมาไปสร้างปัญหาเวลาการอยู่ครบตำแน่ง 2 ปีเหมือน นายเวรและผู้ช่วยนายเวร ที่สามารถลงไปอยู่ตำแหน่งอื่นๆได้กองบัญชาการต่างๆต้องกันที่ไว้รองรับ และที่ที่กันไว้ก็ต้องอยู่ในเก้าอี้ที่น่าพอใจด้วยจากนั้นเลยมีการยกเลิกยุบตำแหน่งประจำสำนักงานทิ้งไป
เฉกเช่นเดียวกับการปรับตำแหน่ง นายเวรและผู้ช่วยนายเวรครั้งนี้ ขั้นตอนกระบวนการต่างๆยังไม่เสร็จสิ้นแม้ก.ตร.อนุมัติตามที่พล.ต.อ.อดุลย์ รองขอปรับ นายเวรผบ.ตร. เทียบเท่า ผบก.ไปแล้วก็ยังเหลือขั้นตอนการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)ที่มีนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน รวมทั้งการที่ก.ตร.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปดำเนินการปรับนายเวรและผู้ช่วยนายเวรของรองผบ.ตร.และผู้ช่วยผบ.ตร.มาเข้าพิจารณาอีกครั้ง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเพิ่มความรอบคอบและขอรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้บัญชาการ รวมทั้งตำรวจทั้งประเทศที่ได้รับผลต่อเนื่องจากการปรับตำแหน่งว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร และควรเป็นแบบไหนเพื่อให้การปรับตำแหน่งเป็นประโยชน์ต่อองค์กรไม่ใช่แค่สนองความต้องการของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น