โดยไทยรัฐ เมื่อ 30 ส.ค.2555
"อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช" ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิยันไม่ลาออก ไม่ท้อ แต่ผิดหวัง แต่งตั้งตำรวจไร้ระบบคุณธรรม อ้างวอล์กเอาต์เมื่อวานออกมาขอยากิน คนอื่นก็เลยตามออกมาด้วย...
วันที่ 30 ส.ค. พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ กรณีที่นำขบวนวอล์กเอาต์ ออกจากที่ประชุม ก.ตร. วาระพิเศษเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ ผบช.-ผบก. ประจำปี 2555 เมื่อวานว่า ที่ต้องวอลก์เอาต์ออกมา เพราะที่ประชุมตอบคำถามผมไม่ได้ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ 4-5 ข้อ ที่ต้องปฏิบัติ ทั้งนี้ ผมไม่ขอก้าวล่วงในเรื่องนามธรรม คือพฤติกรรม แต่ที่ผมมองคือ เรื่องการถือครองตำแหน่งจะต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ที่ต้องเด่นกว่าบุคคลอื่นๆ ชัดเจน การแต่งตั้งในครั้งนี้ มีการแต่งตั้งระดับผู้การ 18 ตำแหน่ง ระดับรองผู้การอีก 20 ตำแหน่ง ซึ่งหลักเกณฑ์ต้องมีทั้งคุณสมบัติ รูปสมบัติ แต่กองบัญชาการที่ทำถูกต้องที่สุด ในที่นี้ขอชมเชยคือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ที่มีการเสนอคุณสมบัติผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ลำดับที่ 1 มาอย่างถูกต้อง ขณะที่มีบางกองบัญชาการเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา มีระบุคุณสมบัติ มาเพียงแค่ 3 บรรทัดเท่านั้น อย่างนี้ใช้ไม่ได้
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวต่อว่า ก.ตร.ต้องกระทำตามหลักเกณฑ์โดยเคร่งครัด ส่วนตัวเห็นว่านโยบายมีได้ แต่ต้องไม่อยู่เหนือคำว่าเหตุผล ระบบอุปถัมภ์ส่วนตัวยอมรับได้ แต่ต้องไม่มากไปกว่าระบบคุณธรรม ที่จะต้องแบ่งให้ชัดเจน ระบบคุณธรรม 80% และระบบอุปถัมภ์เพียง 20%
"ผมพูดไปตามความเป็นจริงของสังคมไทย ที่เรามีระบบอุปถัมภ์ ซึ่งส่วนตัวก็ยอมรับได้" พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าว
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผมพูดเมื่อวานทั้งหมด พูดด้วยความสุภาพเรียบร้อย ควบคุมอารมณ์ มีสติกำกับตลอด เมื่อ 10 ปีที่แล้วพูดอย่างไร วันนี้ก็ยังพูดอย่างนั้น ผมโตมาด้วยการทำงาน ไม่เคยเป็นผู้ขอ เมื่อเขามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ทำไมไม่แต่งตั้งเขาไปตามสายงาน แต่กลับเอาเขาไปโตนอกสายงานที่เขาเองก็ไม่คุ้นเคย และไม่มีความถนัดมากนัก ผมถามในที่ประชุมก็ไม่มีใครตอบได้ เงียบกันหมด
ทั้งนี้ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ยอมรับว่า มีการยกตัวอย่างในที่ประชุม ก.ตร. เมื่อวานที่ผ่านมา มีรองผู้การท่านหนึ่ง อยู่ในบัญชีพิจารณาแต่งตั้งให้ตำแหน่งสูงขึ้น อยู่ในหน่วยงาน รพ.ตำรวจ มีอายุทำงานมา 4 ปี และมีความเหมาะสม ถ้าคณะ ก.ตร.เห็นว่า ต้องเลื่อนตำแหน่งก็ขอให้เลื่อนกันในหน่วยงานที่สังกัดได้หรือไม่ เหตุใดต้องย้ายนายตำรวจท่านนั้น ไปเป็นผู้บังคับการจเรตำรวจแห่งชาติด้วย ซึ่งแม้เป็นการโตในหน้าที่การงานก็จริง แต่เป็นการโตไปในนอกสายงาน ที่นายตำรวจท่านนั้นเองก็ไม่ได้มีความถนัด หรือเชื่ยวชาญงานด้านจเรตำรวจ แล้วการย้ายไปเป็นผู้การจเรฯ นั้น ยังเป็นการไปทับสายงานคนอื่นที่อยู่ในหน่วยงานนั้น ที่มีความเชืี่ยวชาญกว่า และกำลังรอจะขึ้นสู่ตำแหน่งอยู่แล้ว บางรายมีอายุทำงานมาถึง 6-7 ปี พวกเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้ขึ้นหรือ?
อีกตัวอย่างมีรองผู้บังคับการภาค 7 คนหนึ่ง ซึ่งได้รางวัลดีเด่น จากนายกรัฐมนตรีด้วย ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และโดดเด่น จากกรณีนำกำลังไปล้อมจับขบวนการค้ายาเสพติดในเรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จนสามารถทลายแก๊งค้ายาเสพติดในเรือนจำได้ ซึ่งจากที่ประมาณการการค้ายาเสพติดในเรือนจำดังกล่าว มีมูลค่าต่อปีสูงถึง 2-3 พันล้านบาท อีกทั้งรองผู้บัญชาการท่านนี้ ก็มีอาวุโสมากกว่า อีกคนที่อยู่ จ.ชุมพร แต่กลับไม่ได้รับการแต่งตั้ง ขณะที่ตำแหน่งผู้บังคับการที่ จ.ภูเก็ต ก็มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งผมก็พยายามสอบถามถึงความเหมาะสมในที่ประชุม แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ยืนยันต่อว่า จะทำหน้าที่ต่อไปไม่คิดลาออก และก็ไม่ได้ท้อถอย เพราะยังมีอายุงานในตำแหน่ง ก.ตร.อีก 3 ปี แต่คนอย่างผม เมื่อไม่ได้รับเกียรติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมเองก็ไม่ให้เกียรติเช่นกัน ผมต้องตำหนิตัวเองที่เป็นอาจารย์สอนตำรวจมา แต่ผมก็ไม่สามารถสอนได้ แล้วเมื่อวานยอมรับว่า เมื่อที่ประชุม ก.ตร.ไม่สามารถตอบคำถามที่ผมถามไปแล้ว ก็เลยลุกออกมาไปขอยาที่ รพ.กิน ส่วนคนอื่นๆ ก็เลยลุกออกมาด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น