สั่งผบ.ตร.เสนอเรื่องตำแหน่งพนักงานสอบสวนภายใน 120 วัน

15/2/55
โดยเดลินิวส์ เมื่อ 14 ก.พ.2555

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ตุลาการศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 452/2550 ระหว่าง

พ.ต.ท.ดาวเรืองภูมิ สันดี 

ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และ
คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร. ) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 

โดยคดีดังกล่าวนี้พ.ต.ท.ดาวเรืองภูมิได้ฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 วรรคหนึ่ง (6)ถึง(11) แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ได้แก่

ตำแหน่ง

- พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 
- พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ 
- พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ 
- พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ 
- พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ และ
- พนักงานสอบสวน 

ซึ่งเป็นตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่กำหนดขึ้นใหม่ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ก.ตร. มีหน้าที่ที่จะต้องกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง (6) ถึง (11) แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 45 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว

ซึ่งผบ.ตร. มีหน้าที่ในการเสนอเรื่องการกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนต่อก.ตร. ตามมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.เดียวกัน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่จัดระบบงานและบริหารงานบุคคลและเป็นฝ่ายเลขานุการของก.ตร. ตามมาตรา 5 อนุมาตรา 1 (ข) และอนุมาตรา2 (24) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2548 และมาตรา 5 ข (3) และ (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติพ.ศ.2552

ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ภายหลังจากที่พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2547 ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาโครงสร้างและระบบการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนหลายคำสั่ง แต่ปรากฏว่าการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ผบ.ตร.จึงยังไม่ได้เสนอเรื่องการกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ต่อก.ตร. 

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้ดำเนินการกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควรโดยไม่มีเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร

ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาให้ผบ.ตร. พิจารณาเสนอเรื่องการกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง (6) ถึง (11) แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547ต่อก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้ก.ตร. พิจารณากำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง (6) ถึง (11) แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

พร้อมทั้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอขอความเห็นชอบการกำหนดจำนวนตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง (6) แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว ต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายใน120 นับแต่วันที่ก.ตร. ได้รับเรื่องจากผบ.ตร.

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สุดยอดมาก..ขอเสียงปรบมือให้ พ.ต.ท.ดาวเรืองภูมิ.........ครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตร.มักจะอ้างเสมอว่า งานสอบอสวนเป็นหน้าเป็นตาของ สตช.หย่วนงานอื่นอยากได้หลายหน่วยงาน หากงานสอบสวนถูกโยกไปอยู่งานอื่นเช่นฝ่ายปกครอง หรืออัยการ ตร.จะเสียหายมาก เปรียบเหมือยักไม่มีกระบอง แต่เวลาพิจารณาความดี ความชอบ รวมทั้งการแต่งตั้งในตำแหน่งหลักให้สูงขึ้นมักถูกกีดกันและหยิบขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับท้ายๆ มันน่าน้อยใจ

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม