พท.ยื่นซักฟอก"มาร์ค - 5 รมต."

24/5/53

โดยมติชน เมื่อ 24 พ.ค.2553

พรรคเพื่อไทย(พท.) ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 6 คน ประกอบด้วย 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี 
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง และ
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ได้ยื่นถอดถอนรัฐมนตรี 4 คน ประกอบด้วย 
นายอภิสิทธิ์ 
นายสุเทพ 
นายชวรัตน์ และ
นายโสภณ

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคม นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน นายวิชาญ มีชัยนันท์ ส.ส.กทม. และนายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. เข้ายื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อถอดถอนนายอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรี รวม 4 คน ซึ่งนายประสพสุข รับปากว่า จะรีบไปดำเนินการตรวจสอบรายชื่อตามกระบวนการรัฐธรรมนูญต่อไป

ต่อมาเวลา 13.20 น. นายวิทยา พร้อมคณะเข้ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 6 คน ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยแยกเป็น 2 ญัตติๆ แรกขอเปิดอภิปรายฯนายกรัฐมนตรี ส่วนญัตติที่ 2 ขอเปิดอภิปรายฯรัฐมนตรี 5 คน และในท้ายญัตติได้เสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธานส.ส.พท.เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

อ้างหวังตีแผ่ความจริงลุยม็อบ

"ที่ไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่สมัยประชุมสามัญที่ผ่านมา เพราะเหตุการณ์และการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายค้านในตอนนั้นล่อแหลมมาก ในช่วงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติการที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ถ้าฝ่ายค้านยื่นเสียแต่วันนั้นแล้วเสียงฝ่ายรัฐบาลมากกว่า เท่ากับว่าฝ่ายค้านประทับตราความชอบธรรมให้รัฐบาลทันทีและเท่ากับผู้ชุมนุมทำผิด แต่ในครั้งนี้ประชาชนที่มาชุมนุมกลับไปแล้วจึงจำเป็นต้องสะท้อนการใช้อำนาจรัฐที่ผ่านมา สถานการณ์จึงต่างกัน"นายวิทยา กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่าครั้งนี้มั่นใจว่า พรรคร่วมรัฐบาลเองจะเทเสียงให้ในการลงมติ นายวิทยากล่าวว่า ความจริงฝ่ายค้านต้องการอธิบายให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่ได้หวังอะไรจากพรรคร่วมรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่หวังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ต้องการให้เห็นความจริง เห็นความผิดพลาดการบริหารโดยรัฐบาล

ซัดรมต.บริหารงานผิดพลาด

"ส.ส.ฝ่ายค้านได้เข้าชื่อยื่นถอดถอน 159 คน  และเข้าชื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 184 คน โดยผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนและอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมดนั้น เนื่องจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ได้แก่

นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย, 

นายชวรัตน์ มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตและส่อว่า กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย, 

นายโสภณ บริหาราชการแผ่นดินโดยกำหนดนโยบายเพื่อมุ่งแสวงหาประโยชน์ในทางทรัพย์สินและประโยชน์ทางการเมือง ส่อว่ารู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้พวกพ้องหรือผู้สนับสนุนทางการเมืองของตนเองเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากโครงการที่กำหนดขึ้น
นายกรณ์ ดำเนินนโยบายการเงินการคลังและการงบประมาณประเทศผิดพลาดบกพร่อง ไม่ดำเนินการตามแผนงานการบริหารราชการแผ่นดินปี 2552-2554 และแผนนิติบัญญัติปี 2552-2554 มุ่งแสวงหาการก่อหนี้สาธารณะ โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจ อีกทั้งนำเงินที่ได้จากการกู้ไปดำเนินนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์กับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ 

นายกษิต บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศชาติในสายตาประชาคมโลก มีพฤติกรรมข่มขู่ก้าวร้าวต่อมิตรประเทศ สร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อฝ่ายที่เห็นต่างกับตนเอง มุ่งทำลายล้างนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นายกฯละเมิดสิทธิฯร้ายแรง

สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี  ระบุว่า 

นายอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้บริหารราชการแผ่นดินโดย

ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน 

ขาดความรู้ความสามารถ 

มีพฤติกรรมส่อว่า จงใจไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้  
กำกับดูแลบริหารราชการแผ่นดินโดยไร้ประสิทธิภาพ 

มีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลยให้รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชั่น แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินอย่างกว้างขวาง 

เป็นไปในลักษณะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงครามทุกชนิดเข้าทำการปราบปรามประชาชนหลายครั้ง 

เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตร่างกายของประชาชนจำนวนมาก

กระทำการกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีให้ประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานก่อการร้าย กลั่นแกล้งประชาชนผู้สุจริตไม่ให้ทำธุรกรรมในสถาบันทางการเงินและกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้าย ขาดหลักธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล มีปัญหามาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมต่ำ แนวนโยบายด้านการต่างประเทศล้มเหลว ไร้วินัยการเงินการคลัง
"หากจะให้บริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง จนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ "ญัตติระบุ 

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม