ก.ตร.สาย"ป๊อด"เดินหน้าเห็นแย้ง ป.ป.ช.ดันทุรังช่วยเพื่อน

12/1/53


โดย ทีมข่าวอาชญากรรม 11 มกราคม 2553 23:59 น.

ก.ตร.สาย"พัชรวาท"ยังเดินหน้าเห็นแย้งมติชี้ ป.ป.ช.ยันผลสอบพยานที่เป็นตำรวจไม่มีหลักฐานเอาผิด พัชรวาท และ พวก ตะแบงตีกฎหมายช่วยพวกเดียวกัน ยกตำรวจกว่า 200,000 นายจับตาดู ว่าสุดท้ายตำรวจทำหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่กลับผิดทำชั่วร้ายแรง

วันนี้(11 ม.ค.)ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) แหล่งข่าวระดับสูงในคณะกรรมการข้าราชตำรวจ(ก.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่ ก.ตร.ได้มีมติเห็นแย้งความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เรื่องของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.ภ.4. พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ที่ มติ ป.ป.ช.ให้นายตำรวจทั้งสามนายออกจารราชการ แต่มติ ก.ตร.กลับเห็นว่านายตำรวจทั้งสามไม่มีความผิด ว่า เรื่องนี้มีการพิจารณาอย่างรอบครอบเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจาก กรณีของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ มีการร้องขอความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ตาม มาตรา 77 กรณี รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการทำหน้าที่ของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ เป็นการกระทำไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามคำวินิจฉัยที่ 2/2546 วันที่ 6 ก.พ.2546 ว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในการพิจารณาความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่และมีมูลความผิดทางอาญา ส่วนคดีของนายตำรวจทั้งสามนายเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องฐานความผิดกรณีการทุจริตต่อหน้าที่ จึงเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน ประกอบกับ การชี้มูลของ ป.ป.ช.มีลักษณะเร่งรีบ ภายหลังพนักงานอัยการสั่งคดีนี้สอบเพิ่มเติมซึ่ง ป.ป.ช.ก็ไปสอบเพิ่มอีก แสดงว่าขบวนการให้ความยุติธรรม กับผู้ถูกกล่าวหาทำไม่รอบครอบ

“การพิจารณากลับฐานความผิดวินัยร้ายแรงเป็นวินัยไม่ร้ายแรง และคณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ผู้ถูกกล่าวหากลับเข้ารับราชการนั้น เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา 76 ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตาม กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญฯ มิได้จำกัดอำนาจหรือดุลยพินิจขององค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ดังนั้น ก.พ.ย่อมมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งลงโทษ ได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. การดำเนินการของ ก.พ.และคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามนัยกฎหมายว่าด้วย ระเบียบข้าราชการพลเรือน และมิได้เป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่บัญญัติไว้ใน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ “ ความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม.96 ก็ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ ส่วน หมวด 8 การอุทธรณ์ ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 2547 มาตรา 105 ระบุว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสั่งลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตาม พ.ร.บ.นี้ให้ผู้นั้น มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ส่วน(2) กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.ตร.

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวว่า ภายหลังจากที่นายตำรวจทั้งสามใช้สิทธิ อุทธรณ์ คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ของ ก.ตร.ได้ดำเนินการกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2547 มีการสอบสวนพยานบุคคลทั้ง ตำรวจที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมแทงด้วยด้ามธงจนได้รับการเจ็บ ถูกยิง ถูกรถยนต์ชน และมีการสอบพยานผู้เชี่ยวชาญเรื่องระเบิด ระบุว่าแก๊สน้ำตาไม่สามารถทำให้ขาขาดแขนขาดได้ และสารประกอบของแก๊สน้ำตาไม่มีอยู่ในร่างของผู้เสียชีวิต ซึ่ง ตามกฎ ก.ตร.อุทธรณ์ ข้อ 18 ระบุว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ซึ่งกรณีนี้เห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์ไม่เป็นความผิดวินัยหรือพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยให้สั่งยกโทษ และ ข้อ 23 ระบุว่า เมื่อ ก.ตร. ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้สำนักงาน ก.ตร.แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบหรือดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร.

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เรื่องการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณานั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เคยส่งให้พิจารณามาแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2552 ซึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาว่าไม่สามารถตีความได้ เนื่องไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐตามหน้าที่ ประกอบกับถ้าพิจารณาที่ระบุไว้ใน มาตรา 214 ของ รัฐธรรมนูญแล้ว ในเรื่องนี้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในอนาคตอย่างรุนแรง และในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษเห็นว่าการดำเนินการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดๆ ก็มีสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาลปกครองได้ และหากศาลปกครองวินิจฉัยเป็นที่สุดว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ ก็ย่อมเป็นความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.เอง คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่1 เห็นว่า เป็นกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจให้คำปรึกษาในข้อกฎหมายเรื่องนี้ได้ เนื่องจากการพิจารณาให้ความเห็นจะต้องขึ้นอยู่กับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งลงชื่อโดยนางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการลงมติความเห็นแย้งของคณะกรรมการ ก.ตร. ในรายของ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ เห็นด้วยในการแย้งคำสั่ง ป.ป.ช. มีมติ 13 ต่อ 2 ในรายของ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ มีมติเห็นด้วยในการแย้งคำสั่งของ ป.ป.ช.จำนวน 10 ต่อ 5

ด้าน พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ก.ตร.กล่าววว่า เรื่องนี้ตำรวจกว่า 200,000 นายใน ตร. กำลังจับตาดูอยุ่เพราะเป็นเรื่องภาพรวมของตร. ที่เกิดขึ้นเพราะตำรวจคนหนึ่งไปทำหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาแต่กลับมาบอกทีหลังว่าไปทำชั่วร้ายแรง

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า สำหรับแหล่งข่าวระดับสูงในคณะกรรมการข้าราชตำรวจ(ก.ตร.)ที่ออกมามีความเห็นแย้งกับ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใกล้ชิด และสนิทสนมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.



ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม