สุเทพขานรับนายกฯสั่งทบทวนมติก.ตร.พลิกคำตัดสินป.ป.ช.มาร์คชี้ทำเกินหน้าที่กลับมติให้3บิ๊กตร.พ้นผิด

12/1/53


วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553 เวลา 07:15:48 น. มติชนออนไลน์

"มาร์ค" ขวาง "สุเทพ" ชงมติ ก.ตร.เห็นแย้ง ป.ป.ช. หลังชี้ 3 นายพลสีกากีไม่ผิดให้ ครม.ส่งศาล รธน.วินิจฉัย ซัด "ก.ตร." ทำเกินหน้าที่ ขัด รธน. ให้ไปฟ้องศาล ปค.แทน

"สุเทพ"รับบัญชานายกฯ สั่งทบทวนมติ ก.ตร.พลิกคำตัดสิน ป.ป.ช.

เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 11 มกราคม 2553(วันจันทร์) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยหากนายสุเทพจะเสนอให้ ครม.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่ก.ตร. กลับมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สั่งให้ลงโทษนายตำรวจ 3 คนประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. 2.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. คดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ตุลาคม 2551 และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี กรณีปล่อยให้ผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ยกพวกรุมทำร้ายผู้ชุมนุมกลุ่ม พธม. บริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ อ.เมืองอุดรธานี ว่า ไม่เป็นไรทุกอย่างว่าไปตามกฎเกณฑ์กติกา ตนไปนั่งสมาชิกคนหนึ่งของ ก.ตร. เป็นประธานดำเนินการในที่ประชุม ก.ตร. เมื่อพูดจากันเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไรก็ดำเนินการไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายจะถูกหรือผิดต้องมีคนวินิจฉัยชี้ขาดต่อไปว่าไปตามขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความจำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติใครจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร กรณีอย่างนี้นายกฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนมีคำสั่งมาถึงตนว่าให้นำเรื่องไปให้ก.ตร.ทบทวน ตนก็นำเรื่องให้ก.ตร.ทบทวนแล้วมีผลอย่างไรก็ทำตามนั้นไม่มี

"มาร์ค"ขวางสุเทพคดี 3 บิ๊กตร.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 (สทท. 11) เมื่อวันที่ 10 มกราคม กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่ ก.ตร. กลับมติของ ป.ป.ช.ที่สั่งลงโทษ 3 นายตำรวจ ประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในคดีการสลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และ พล.ต.ต. เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) อุดรธานี กรณีปล่อยให้ผู้ชุมนุม นปช.หรือคนเสื้อแดง ยกพวกรุมทำร้ายกลุ่มเสื้อเหลือง บริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ อ.เมืองอุดรธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 โดยทั้ง 3 คนมีความผิดอาญาและวินัยร้ายแรงว่า คงไม่มีความจำเป็น

"เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นกับผมชัดเจนว่า เรื่องนี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วในอดีตว่าการอุทธรณ์ตามกฎหมายบริหารงานบุคคลจะอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษเท่านั้น เช่น สอบมาว่าผิดวินัยร้ายแรง มีการลงโทษไล่ออก ก็อาจอุทธรณ์ให้เป็นปลดออกได้ แต่จะไปกลับข้อเท็จจริง หรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ไม่ได้ ตรงนี้ชัดเจน และในวันที่ 11 มกราคม จะแจ้งให้นายสุเทพทราบถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ดำเนินการต่อไป" นายกฯระบุ

ชี้ก.ตร.ทำเกินหน้าที่ส่อขัดรธน.

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า ก.ตร.ทำเกินหน้าที่ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธ์กล่าวว่า "ครับ ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ป.ป.ช.แน่นอน ดังนั้น คงต้องให้รองนายกฯแจ้ง ก.ตร. เพื่อไปทบทวนเรื่องนี้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว กรณีอดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่เคยทำแบบเดียวกัน ซึ่งป.ป.ช.ส่งเรื่องมา ก.พ. สั่งลงโทษแล้วไปอุทธรณ์ แต่เกินเลยไปก้าวล่วงดุลพินิจป.ป.ช. จึงมีการส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่มีอำนาจทำเช่นนั้นได้"

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้สามารถไปขอความเป็นธรรมได้ผ่านช่องทางของศาลปกครอง ซึ่งในอดีตก็เคยมีที่ศาลปกครองกลับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ดังนั้น การให้ความเป็นธรรมกับคนเหล่านี้คือเมื่อกระบวนการตรงนี้สิ้นสุดลง คนเหล่านี้ก็สามารถร้องศาลปกครองได้ แต่ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจไปกลับคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระ แต่ถ้าเป็นศาลปกครองทำได้ เพราะเป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม