ความแตกต่าง

10/1/58
โดยสหบาท นสพ.ไทยรัฐ เมื่อ 10 ม.ค.2558

เห็นแล้วเหนื่อยใจแทน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ในเรื่องคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่ติดมากับตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่งานนี้เจอหนักหน่อยกับคำสั่ง 2 หน่วยหลัก

คำสั่ง 1 “ตัดรากถอนโคน” โยกย้ายนายตำรวจที่ว่าเป็นเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก. ทำให้เกิดแรงต้านอย่างหนักในช่วงแรก

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.ผบช.ก. ใช้เหตุผลและการบริหารจัดการ ทำความเข้าใจผู้ที่เกี่ยวข้องจนทุกอย่างคลี่คลาย ยึดความเป็นธรรมในการหยิบตัวคนออกนอกหน่วยเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เสียขวัญน้อยที่สุด ขยับคนที่มีความรู้ ความสามารถมาลงในตำแหน่งแค่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน บช.ก.

เรื่องที่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ตำรวจกลายเป็นความร่วมมือทุกคนในหน่วยเพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลาย

แต่คำสั่ง 2 โยกย้าย บช.น. เป็นเรื่องใหญ่เหนือกว่า บช.ก.ในเรื่องมูลเหตุโยกย้าย เพราะความผิดในเรื่อง “ป้ายไฟโฆษณา” บนป้อมตำรวจที่ติดตั้งป้ายโฆษณา 805 ป้อม เป็นของ บช.น. 173 ป้อม ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ไม่เคยมีปัญหาเรื่องตั้งป้าย แค่ทำสัญญาให้ถูกต้องแค่นั้น

แต่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. มองเป็นความผิดร้ายแรง โทษฐานทำให้รัฐเสียหาย ต้องดำเนินคดีอาญาและแพ่ง รวมทั้งลงโทษทางวินัย ประกาศเล่นงานตำรวจทั้งวินัยและอาญา

มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง พร้อมประกาศขู่ย้าย ผกก. กว่า 60 โรงพัก

แต่ตำรวจที่ถูกย้ายมองว่าไม่ทัดเทียมกัน บางคนถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัย แต่ได้ยุติเรื่องได้อยู่ที่เดิมหรือขยับอยู่ใน บช.น. แต่โรงพักที่ติดตั้งป้ายแบบเดียวกันถูกโยกย้ายนอกหน่วย มีข่าววิ่งเต้นยุติเรื่อง ผู้ที่ถูกย้ายทนไม่ไหว ขอความเป็นธรรม ก.ตร. ชะลอการพิจารณาจนกว่าทราบผลคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง

ไม่ว่าผลคำสั่งแต่งตั้งยุติแบบไหน สิ่งที่ปฏิบัติตลอดมาโรงพักแทบทุกแห่งขอรับบริจาคสนับสนุนภาคเอกชนในภารกิจตำรวจ โดยเฉพาะ “ป้ายไฟโฆษณา” เป็นสิ่งที่อยู่ติดป้อมตำรวจทั่วประเทศมานาน

แต่ ผบช.น.ยุคนี้มองเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อตำแหน่งหน้าที่ตำรวจ

เป็นความแตกต่างหลักการบริหารจัดการของ บช.น.และ บช.ก.

ไม่มีความคิดเห็น:

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม